การขอประกันตัว

Published by law_admin on

คือ การขออนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยพ้นจากการควบคุมของเจ้าพนักงานหรือศาลตามตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมหรือขังเป็นเวลานานเกินกว่าความจำเป็นในระหว่างหารสอบสวนหรือการพิจารณาคดี เพราะหากไม่มีความจำเป็นต้องควบคุมก็ควรที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวออกไป อันเป็นการปฏิบัติตามหลักการของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้

ใครบ้างมีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอประกันตัว

  1. ผู้ต้องหาหรือจำเลย
  2. ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี ภรรยา ญาติพี่น้อง ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง บุคคลที่เกี่ยวพันทางสมรส บุคคลที่ศาลเห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติพี่น้อง หรือมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่ศาลเห็นสมควรให้ประกันได้ หรือ นิติบุคคล (เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด) สำหรับกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นกรรมการ ผู้แทน ตัวแทน หุ้นส่วน พนักงานหรือลูกจ้างของนิติบุคคลนั้น

การปล่อยชั่วคราวมีกี่ประเภท

การที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวหรืออนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. การปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน คือ การปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องทำสัญญาประกันและไม่ต้องมีหลักประกันแต่อย่างใด เพียงแต่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะมาตามนัดหรือหมายเรียกเท่านั้น
  2. การปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน คือ การปล่อยตัวชั่วคราวโดยผู้ขอประกัน ต้องทำสัญญาประกันต่อศาลว่าจะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของศาลซึ่งให้ปล่อยชั่วคราว ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มาตามกำหนด ผู้ขอประกันจะถูกปรับตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาประกัน ตลอดจนอาจมีการกำหนดเงื่อนไขในสัญญาประกันนั้น
  3. การปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกัน คือ การปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีสัญญาว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะมาตามที่กำหนดในสัญญาหรือตามหมายเรียก และมีการวางหลักประกันไว้เพื่อที่จะบังคับเอากับหลักประกันเมื่อมีการผิดสัญญา

การยื่นคำร้องขอประกันตัว ผู้ขอประกันจะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง

ในการติดต่อขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ผู้ขอประกันจะต้องยื่นคำร้องขอประกันตัว พร้อมด้วยเอกสารและหลักประกันประกอบคำร้องดังกล่าว โดยนำต้นฉบับเอกสารพร้อมสำเนามายื่นต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และเสนอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งต่อไป ซึ่งเอกสารในการประกอบคำร้องขอประกันตัวมีดังนี้

1. บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ

2. ทะเบียนบ้าน

3. กรณีผู้ขอประกันมีคู่สมรสจะต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่
3.1 บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐและทะเบียนบ้านของคู่สมรส
3.2 ใบสำคัญการสมรส
3.3 หนังสือให้ความยินยอมของคู่สมรส

4 กรณีชื่อเจ้าของหลักทรัพย์ไม่ตรงกับที่ปรากฏในหลักทรัพย์จะต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่
4.1 หนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลเดียวกัน หรือ
4.2 หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล
4.3 ใบสำคัญการสมรส4.5 กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นชาวต่างประเทศ หากมีหนังสือเดินทาง (passport) ต้องนำมาแสดงด้วยหากเอกสารที่ต้องนำมาในวันยื่นคำร้องขอประกันตัวไม่ครบถ้วน ผู้ขอประกันอาจขอผัดผ่อนต่อศาลเพื่อพิจารณาอนุญาตให้นำมาส่งในภายหลังได้


หลักประกันใดบ้างที่สามารถใช้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้

1. เงินสด

2. หลักทรัพย์อื่น เช่น

2.1 โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก. หรือ น.ส. ๓)

2.2 พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน บัตรหรือสลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้จ่ายและธนาคารผู้จ่ายได้รับรองตลอดไปแล้ว ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้ออกตั๋ว หรือเช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่าย (แคชเชียร์เช็ค) หรือเช็คที่ธนาคารรับรองแล้ว

2.3 สมุดเงินฝากประจำหรือใบรับรองฝากประจำของธนาคาร

3. บุคคลเป็นหลักประกันโดยแสดงหลักทรัพย์

4 ส่วนราชการ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการช่วยเหลือข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการที่ต้องหาคดีอาญา

5. เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ การเมืองหรือทนายความ (ใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกัน เฉพาะตนเองหรือญาติใกล้ชิด) โดยสามารถทำสัญญาประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 10 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน

6. ผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ เภสัชกร พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ผู้สอบบัญชี ครู ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน ฯลฯ เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย อาจใช้ตนเองเป็นหลักประกันได้ สำหรับกรณีความผิดที่ถูกกล่าวหาเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติงานในการประกอบวิชาชีพ โดยสามารถทำสัญญาประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 15 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน


วิธีนำหลักประกันมาใช้ในการขอประกันตัว ผู้ขอประกันจะต้องทำอย่างไร

  1. กรณีใช้โฉนดที่ดิน น.ส. 3 หรือ น.ส. 3 ก. ต้องมีหนังสือรับรองประเมินราคาที่ดินจากสำนักงานที่ดินจังหวัดหรือจากที่ว่าการอำเภอในเขตที่ที่ดินอยู่ แล้วแต่กรณี ซึ่งให้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน รับรองโดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือผู้ปฏิบัติราชการแทนหรือผู้ทำการแทน กรณีรับรองโดยสำนักงานที่ดินอำเภอ ผู้รับรองราคาประเมินจะต้องเป็นนายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้ทำการแทนหรือเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอ
  2. กรณีใช้สมุดเงินฝากธนาคารต้องมีหนังสือรับรองยอดเงินฝากคงเหลือปัจจุบันจากสาขาธนาคารที่เปิดบัญชี พร้อมระบุข้อความว่าธนาคารจะไม่ให้ถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปจนกว่าจะได้รับคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากศาลก่อน
  3. กรณีใช้บุคคลตามข้อ 5.5 เป็นหลักประกัน ต้องมีหนังสือรับรองจากต้นสังกัดแสดงสถานะ ตำแหน่ง ระดับอัตราเงินเดือน และควรระบุให้ชัดเจนว่าจะนำไปประกันใคร หากมีภาระผูกพันในการทำสัญญาประกันหรือใช้ตนเองเป็นหลักประกันผู้อื่นไว้ก็ให้แสดงภาระผูกพันนั้นด้วย
  4. กรณีบิดามารดาเป็นผู้ขอประกันบุตร ศาลอาจให้ประกันโดยไม่ต้องแสดงหลักทรัพย์ แต่ต้องมีหลักฐานยืนยันว่าเป็นบุตร หมายเหตุ กรณีหลักทรัพย์ที่นำมาในวันยื่นขอประกันตัวมีราคาไม่เพียงพอตามที่ศาลกำหนดวงเงินประกัน ศาลอาจอนุญาตให้ผู้ขอประกันขอผัดผ่อนนำหลักทรัพย์มาเพิ่มเติมให้ครบในภายหลังได้ทั้งนี้ ในกรณีที่เจ้าของหลักทรัพย์มอบอำนาจให้บุคคลอื่น ยื่นคำร้องขอประกันตัวจะต้องทำหนังสือมอบอำนาจ ณ ที่ว่าการอำเภอที่มีภูมิลำเนาหรือหลักทรัพย์ตั้งอยู่โดยให้นายอำเภอหรือผู้รักษาราชการแทนลงรายมือชื่อ และประทับตราประจำตำแหน่งรับรองการมอบอำนาจ หรือทำหนังสือการมอบอำนาจต่อหน้าเจ้าหน้าที่ศาล พร้อมทั้งนำบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจมาด้วย บางศาลอาจอนุญาตเฉพาะนำหลักทรัพย์มาประกันญาติพี่น้อง เพื่อป้องกันการหลอกลวงเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาหาผลประโยชน์จากการประกันผู้ต้องหาหรือจำเลย

ศาลใช้หลักเกณฑ์อะไรในการวินิจฉัยสั่งคำร้องขอประกันตัว

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 ได้บัญญัติให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการอนุญาตให้ประกันตัวหรือไม่ โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้

  1. ความหนักเบาแห่งข้อหา
  2. พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด
  3. พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร
  4. เชื่อถือผู้ขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
  5. ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่
  6. ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการอนุญาตให้ประกันตัวมีเพียงใดหรือไม่
  7. คำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทย์หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี
  8. ข้อเท็จจริงหรือรายงานหรือความเห็นของเจ้าพนักงาน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการนั้น ในกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นเด็กหรือเยาวชนศาลจะพิจารณาความประพฤติ ภูมิหลัง สิ่งแวดล้อมและผู้ปกครองในการดูแลเด็กประกอบด้วยในคดีที่เด็กและเยาวชนไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นสถานพินิจ ฯ ศาลเยาวชนและครอบครัว หรือศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจทบทวนคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวของผู้อำนวยการสถานพินิจ ฯ ได้ คำสั่งศาลเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด แต่ไม่ตัดสิทธิในการยื่นขอประกันตัวใหม

ศาลจะสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเพราะเหตุใดบ้าง

สำหรับการสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 108/1 บัญญัติให้ศาลกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

  1. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
  2. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
  3. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
  4. ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
  5. การอนุญาตให้ประกันจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสืบสวนของเจ้าพนักงาน หรือการดำเนินคดีในศาล

มีกรณีที่ศาลจะสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยไม่มีผู้ขอประกันได้หรือไม่

กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นเด็กหรือเยาวชน ศาลเยาวชนและครอบครัวและศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจสั่งปล่อยชั่วคราวตามที่ศาลเห็นสมควร โดยไม่ต้องมีผู้ขอประกัน ซึ่งมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

  1. เด็กหรือเยาวชนถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานพินิจฯ หรือสถานที่อื่นใดที่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชน
  2. ศาลเห็นสมควรมีคำสั่งปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนชั่วคราวโดยไม่มีใบประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก็ได้ หรือมอบตัวเด็กหรือเยาวชนแก่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่หรือบุคคลหรือองค์กรที่ศาลเห็นสมควรก็ได้
  3. ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งมอบเด็กหรือเยาวชนแก่บุคคลหรือองค์กรดังกล่าวให้ศาลเรียกผู้อำนวยการสถานพินิจฯ หรือผู้ปกครองสถานที่ที่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมเด็กหรือเยาวชนแล้วแต่กรณีมาสอบถามความเห็นก่อน

หน้าที่ของผู้ขอประกันมีอะไรบ้าง

ผู้ขอประกันต้องส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลตามนัดหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นส่งแทนก็ได้ โดยขอแบบฟอร์มได้ที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ หากผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาลแต่ผู้ขอประกันไม่มาศาลไม่ถือว่าผิดสัญญาประกัน แต่ถือว่าผู้ขอประกันทราบคำสั่งของศาลและวันนัดส่งตัวคราวต่อไปแล้ว กรณีศาลอนุญาตให้ประกันโดยมีเงื่อนไข เช่น ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่ศาล หรือห้ามออกนอกราชอาณาจักร ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ขอประกันก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว


การถอนประกันต่อศาลต้องทำอย่างไร

ผู้ขอประกันอาจขอถอนสัญญาประกันหรือขอถอนหลักประกันต่อศาลได้เสมอ โดยต้องส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยคืนต่อศาล เมื่อศาลอนุญาตความรับผิดชอบตามสัญญาประกันเป็นอันสิ้นสุดลง


การขอรับหลักทรัพย์หรือเงินสดคืนจากศาลต้องปฏิบัติอย่างไร

1. ในกรณีของศาลอาญา ศาลอาญาธนบุรี ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลจังหวัดและศาลแขวง และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เมื่อคดีถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนประกัน หรือสัญญาประกันสิ้นสุดลงด้วยเหตุอื่น ความรับผิดตามสัญญาประกันสิ้นสุดลง ผู้ขอประกันสามารถขอรับหลักประกันคืนได้ทันที โดยยื่นคำร้องต่อศาลและแนบหลักฐานคือ ใบรับหลักฐาน และใบรับเงินที่ศาลออกให้เมื่อครั้งยื่นขอประกันตัว หากใบรับหลักฐานหรือใบรับเงินสูญหายต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและนำใบรับแจ้งความมาแสดงต่อศาล โดยปกติแล้วผู้ขอประกันจะต้องยื่นคำร้องด้วยตนเอง หากไม่สามารถมารับได้ด้วยตนเอง สามารถมอบฉันทะให้ผู้อื่นมารับหลักทรัพย์หรือเงินสดแทนได้ โดยใบมอบใบฉันทะขอได้ที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของศาล

2. ในกรณีของศาลเยาวชนและครอบครัวและศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว

2.1 กรณีประกันในชั้นสถานพินิจฯ

การขอถอนหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันคืน เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ยื่นแถลงขอถอนหลักทรัพย์คืนต่อศาล เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนหลักทรัพย์คืนได้ที่สถานพินิจฯ เอกสารที่ต้องยื่นต่อสถานพินิจฯ ในการขอถอนหลักทรัพย์คืน ประกอบด้วยหนังสือจากผู้อำนวยการสำนักงานหรือสำนักอำนวยการประจำศาลเยาวชนและครอบครัวแจ้งผู้อำนวยการสถานพินิจ ฯ อนุญาตให้ถอนหลักทรัพย์คืน ใบเสร็จรับเงินที่ได้รับในวันประกันตัวชั้นสถานพินิจฯ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอประกัน

2.2 กรณียื่นหลักประกันในชั้นศาลการขอรับหลักทรัพย์หรือเงินสดคืนจากศาล ต้องปฏิบัติดังนี้

เมื่อคดีถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนประกันหรือสัญญาประกันสิ้นสุดลงด้วยเหตุอื่นความรับผิดตามสัญญาประกันสิ้นสุดลง ผู้ขอประกันสามารถขอรับหลักประกันคืนได้ทันที โดยยื่นคำร้องต่อศาลและแนบหลักฐานคือ ใบรับหลักฐาน และใบรับเงิน ที่ศาลออกให้เมื่อครั้งยื่นขอประกันตัว หากใบรับหลักฐานหรือใบรับเงินสูญหายต้องแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและนำใบรับแจ้งความมาแสดงต่อศาล โดยปกติแล้ว ผู้ขอประกันจะต้องยื่นคำร้องด้วยตนเอง หากไม่สามารถมารับได้ด้วยตนเอง สามารถมอบฉันทะให้ผู้อื่นมารับหลักทรัพย์หรือเงินสดแทนได้ โดยใบมอบฉันทะขอได้ที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของศาล

 

โดย ทนายสถิตย์ อินตา

     083-568-1148

แชร์หน้านี้ !!