เพราะห้างหุ้นส่วนจำกัดแท้ๆ ผมจึงต้องซวย

Published by law_admin on

Clinic Director

คลินิกกรรมการบริษัท

เพราะห้างหุ้นส่วนจำกัดแท้ๆ ผมจึงต้องซวย

          ท่านทั้งหลายครับ ท่านทั้งหลายคงพอทราบกันอยู่บ้างว่า หน่วยธุรกิจที่คนทั่วไปมักจะใช้ในการประกอบธุรกิจ ก็เห็นจะหนีไม่พ้น ห้างหุ้นส่วนจำกัด และ บริษัท จำกัด ส่วนห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น เห็นเป็นส่วนน้อย และเท่าที่ผู้เขียนได้สัมผัสกับบุคคลที่ใช้หน่วยธุรกิจเหล่านี้หลายคนบอกว่า ที่จัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดเห็นว่าง่ายกว่าในแง่ของการจัดการ การบังคับให้ต้องจัดทำเอกสารทางบัญชีหรืออะไรต่างๆนั้น หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก็ไม่ค่อยจะเข้มงวดมากนัก อันนี้ก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง(ถ้าเป็นเมื่อก่อนนะครับ) แต่ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐก็เข้มงวดมากขึ้นนะครับ ไม่ว่าจะเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  (หจก.) หรือ บริษัทจำกัด (บจก.) แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกท่านที่บริหารกิจการโดยห้างหุ้นส่วนจำกัดมองข้ามคือเรื่องของความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการครับ  วันนี้เราจะมาดูกัน เรื่องจริงจากคดีจริง เป็นคนใกล้ตัวผู้เขียนเอง เพื่อนของผมแกเปิดกิจการเกี่ยวกับการขายอุปกรณ์ก่อสร้าง และ อุปกรณ์เครื่องจักรกลต่างๆ ขายหน้าร้านบ้างขายผ่านเว็บไซด์บ้าง แน่นอนครับการทำธุรกิจก็ย่อมต้องมีการทำธุรกรรมทางการเงิน มีการทำสัญญากับบุคคลภายนอก และ กิจการก็อยู่ภายใต้สัจธรรมที่ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายย่อมไม่เที่ยง มีเกิดขึ้น มีตั้งอยู่ และก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา วันหนึ่งเกิดเหตุอันไม่อาจคาดคิด ทำให้แกต้องผิดสัญญาซื้อขายกับลูกค้ารายหนึ่ง เขาก็ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นจำเลยที่ 1 และ ฟ้องตัวแกในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นจำเลยที่ 2  ให้ต้องร่วมรับผิดตามสัญญา คดีก็สู้กันอยู่หลายปี สุดท้ายแกแพ้คดี ศาลพิพากษาให้จ่ายเงินค่าปรับแก่คู่สัญญาหลายสิบล้านบาท แต่แกไม่มีทรัพย์สินไปใช้หนี้เจ้าหนี้ เจ้าหนี้เขาก็นำยึดทรัพย์ส่วนตัวแก อายัดเงินในบัญชีแก แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ทั้งหมด เจ้าหนี้เขาเลยฟ้องคดีล้มละลายห้างหุ้นส่วนและฟ้องตัวแกด้วยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการ

     ท่านทั้งหลายทราบหรือไม่ว่า เรื่องนี้มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่างอย่างไรบ้าง

  • หุ้นส่วนผู้จัดการนั้น เฉพาะแต่หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้น ที่จะเป็นผู้จัดการได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1087 และ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1077 (2) กำหนดให้หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดหรือหุ้นส่วนผู้จัดการต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน แสดงว่าห้างฯเป็นหนี้เท่าใด หุ้นส่วนผู้จัดการก็ต้องรับผิดร่วมกับห้างฯเท่านั้น ดังนั้นเจ้าหนี้เมื่อฟ้องห้างฯ ให้รับผิดได้ ก็ย่อมฟ้องหุ้นส่วนผู้จัดการหรือหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดให้รับผิดได้ และ ก็ฟ้องให้ห้างฯ และ หุ้นส่วนผู้จัดการหรือหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดให้ล้มละลายได้เช่นเดียวกัน
  • อีกทั้งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 89 กำหนดว่า “…เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งได้จดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้บุคคลซึ่งนำสืบได้ว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลายได้ โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่…”

      ทุกท่านเห็นหรือยังครับว่า หน่วยธุรกิจที่เราคิดว่าจะให้เป็นตัวแทนของเรา เป็นนิติบุคคลต่างหากจากเรา ก็เพื่อหวังว่าวันนึงถ้ามันมีเหตุต้องตายไป เราก็จะได้ไม่ต้องตายไปกันมัน  แต่เหตุไฉนเหตุการณ์นี้มันพาเราซวยไปกับมันด้วย เวรกรรมนี้ เกิดขึ้นเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ครับ หากเพื่อนของผมคนนี้เขาเปิดกิจการในรูปแบบของบริษัทจำกัด จะไม่เกิดเหตุการณ์นี้เลย

ทนายนำชัย  พรมทา

โทร. 086-331-4759

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

โทรปรึกษา ฟรี!
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!