กรรมการบริษัท นำรถประจำตำแหน่งไปใช้ในกิจการส่วนตัวได้หรือไม่

Published by law_admin on

Clinic Director

คลินิกกรรมการบริษัท

กรรมการบริษัท นำรถประจำตำแหน่งไปใช้ในกิจการส่วนตัวได้หรือไม่

          ท่านทั้งหลายครับ ใครที่ได้มีชื่อเป็นกรรมการบริษัทซักแห่งหนึ่งมันช่างเท่ห์ และ น่าภาคภูมิใจเสียจริงๆ  โดยเฉพาะกรรมการของบริษัท ที่ได้ขับหรูประจำตำแหน่ง  แต่ถ้าใช้รถนั้นอย่างไม่ระมัดระวัง นำไปใช้ในกิจกรรมส่วนตัวบ้าง ในกิจกรรมของบริษัทบ้าง จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร กรรมการบางท่านก็คิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ โดยเฉพาะกรรมการบริษัท ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นกรรมการบริษัทด้วย ด้วยความเข้าใจก็คือเข้าใจว่าเป็นบริษัทของเราเอง จึงไม่น่าจะมีอะไร เพราะการใช้รถก็เข้าใจว่าเป็นรถของเราเอง เพียงแต่ซื้อในนามบริษัทเท่านั้น  แต่ท่านไม่ควรลืมไปว่า บริษัทจำกัดนั้นต้องมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 3 คน แม้ท่านจะถือหุ้นมากที่สุดเป็นผู้ถือหุ้นที่กุมอำนาจบริษัท หรือ แม้แต่การให้บุคคลเหล่านั้นถือหุ้นลอยๆ แต่ผลทางกฎหมายก็ถือว่าบุคคลเหล่านั้นคือผู้ถือหุ้น  มีสิทธิตามกฎหมายทุกประการในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท และ เป็นเจ้าของบริษัทตามสัดส่วนแห่งการถือครองหุ้นนั้น วันนี้ก็เช่นเคยครับผมก็มีเรื่องจริงจากคดีจริงมาเล่าสู่กันฟัง  เรื่องมีอยู่ว่า  มีบริษัทๆหนึ่ง เป็นธุรกิจในครอบครัว ถือหุ้นโดยพี่ๆน้องๆ บริษัทนี้เปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในขณะนั้นกำหนดให้ต้องมีผู้เริ่มก่อการและผู้ถือหุ้นจำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน  ครอบครัวนี้มีพี่น้องทั้งหมด 7 คนพอดี จึงถือหุ้นทั้งหมดโดยพี่น้อง 7 คน แต่ความจริงบริษัทเป็นของนองชายคนรอง และ ของน้องสาวคนเล็กที่เป็นผู้บุกเบิกและเป็นเจ้าของบริษัทที่แท้จริง ส่วนพี่น้องคนอื่นๆเป็นแต่เพียงผู้ถือหุ้นลอยๆ เท่านั้นโดยถือหุ้น 1% บ้าง 5% บ้าง ส่วนน้องชายคนรองถือหุ้น 60% ส่วนน้องสาวคนเล็กถือหุ้น 20% บริษัทมีน้องชายคนรองเป็นกรรมการผู้จัดการแต่เพียงผู้เดียว บริษัทมีการชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่า ประมาณ ปี พ.ศ.2555 กิจการของบริษัทเริ่มดีขึ้น น้องชายคนรองก็เข้าใจว่าบริษัทนี้เป็นของตนเอง เพราะตนเองเป็นผู้บุกเบิกและเป็นผู้ลงทุน จึงซื้อรถยนต์ส่วนตัวมาใช้ แต่ซื้อในนามบริษัท และก็ใช้รถนั้นในกิจกรรมส่วนตัวบ้าง เช่น พาแฟนไปเที่ยวทะเลบ้าง ไปเที่ยวตากอากาศที่ต่างจังหวัดไกลๆบ้าง ส่วนกิจกรรมในบริษัทก็ขับรถคันดังกล่าวไปทำงานที่บริษัทและในการเดินทางไปพบลูกค้า เหตุการณ์ดังกล่าวดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไร แต่ความจริงแล้วพี่ชายคนโตถือหุ้นเพียง 5 % และเป็นการถือหุ้นลอยๆเท่านั้น อยากได้ผลตอบแทนจากบริษัทบ้าง (ความโลภไม่เคยเข้าใครออกใคร) เลยไปพูดคุยต่อรองกับน้องชายคนรอง แต่น้องชายคนรองไม่ยอมจ่ายค่าตอบแทนให้ พี่ชายเลยไปปรึกษาทนายความเพื่อฟ้องคดีเพื่อใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้น

          จากกรณีดังกล่าว ท่านทั้งหลายทราบหรือไม่ว่า น้องชายซึ่งเป็นกรรมการมีความรับผิดทางกฎหมายอย่างไรบ้าง

  • ในการจดทะเบียนบริษัท เอกสารประกอบการจดทะเบียนย่อม เช่น รายงานการประชุมจัดตั้งบริษัท , ข้อบังคับของบริษัท รายการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท (แบบ บอจ.3) สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) รวมถึงใบสำคัญการรับชำระค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้น ย่อมบ่งชัดว่าบริษัทได้รับค่าหุ้นจนเต็มมูลค่าแล้ว และ ใบสำคัญการรับชำระค่าหุ้นย่อมบ่งชัดว่า กรรมการได้รับชำระเงินค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นแล้วเป็นเงินจำนวนเท่าใด แม้ความจริงเป็นการถือหุ้นลอยๆ แต่ในเอกสารดังกล่าวถือว่ากรรมการได้รับเงินจากผู้ถือหุ้นรายนั้นๆแล้ว และ เอกสารที่ได้มีการจดทะเบียนไว้ หรือ เอกสารของบริษัท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1024 ให้สันนิษฐานว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้อง ดังนั้นแม้ความจริงเขาจะเป็นผู้ถือหุ้นลอยๆ แต่กรรมการจะยกข้ออ้างนี้ขึ้นก็เป็นการลำบากมากเพราะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย คราวนี้ก็ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าพี่ชายคนโตนั้นเป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริง มีสิทธิในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัททุกประการตามสัดส่วนที่เขาถือครองหุ้นอยู่
  • การใช้รถยนต์ของกรรมการบริษัท ซึ่งซื้อในนามบริษัทก็ต้องใช้ในกิจการของบริษัทเท่านั้น จะนำไปใช้ในกิจการส่วนตัวนั้นไม่ได้ เนื่องจากรถยนต์เป็นทรัพย์สินของบริษัท หากนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวนั้น ถือว่าผู้ถือหุ้นทุกคนย่อมเสียหายทำให้ทรัพย์สินของบริษัทเสียหาย ผู้ถือหุ้นย่อมฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรรมการได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1169
  • นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นอาจฟ้องกรรมการในความผิดฐานปฏิบัติผิดหน้าที่โดยทุจริตทำให้ผู้อื่นเสียหายในทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 353 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับได้

ทุกท่านเห็นหรือยังครับว่า บางครั้งเรื่องเล็กน้อยๆ ก็อาจไม่เล็กน้อยอีกต่อไป  การประกอบธุรกิจนั้น ความเสี่ยงทางกฎหมายถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องจัดการให้สิ้นไป ไม่เช่นนั้น อาจต้องติดคุก หรือ อาจทำให้กิจการเจ๊งได้เลยทีเดียว

ทนายนำชัย  พรมทา

โทร. 086-331-4759

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

โทรปรึกษา ฟรี!
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!