โอนหุ้นผิดชีวิตดับ

Published by law_admin on

Clinic Director

คลินิกกรรมการบริษัท

โอนหุ้นผิดชีวิตดับ

          “หุ้น” ถือเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาซึ่งกรรมสิทธิ์ได้ เหมือนอย่างทรัพย์สินชนิดอื่นๆ ดังนั้นหุ้นก็ย่อมโอนไปซึ่งกรรมสิทธิ์ก็ได้ จำหน่ายจ่ายโอนได้เหมือนทรัพย์สินชนิดอื่นๆ บุคคลก็ย่อมได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในหุ้นโดยวิธีต่างๆกันไปก็ได้หลายวิธี เช่น ได้รับมาจากการซื้อที่มีการขายทอดตลาดหุ้น ซื้อจากเพื่อน หรือ จากคนรู้จัก หรือ แม้แต่อาจได้รับมาทางมรดกก็ได้ แต่ปัญหาที่มักพบบ่อยๆก็คือ การซื้อขายหุ้น หรือ การโอนหุ้น โดยวิธีโอนหุ้นให้แก่กัน  ท่านทั้งหลายทราบหรือไม่ครับว่า การโอนหุ้นนั้น มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง และ ผลแห่งการที่ไม่ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดนั้น จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร และ เมื่อผลทางกฎหมายเป็นอย่างไรแล้ว จะมีหนทางแก้ไข หรือ จะมีผลต่อจากนั้นไปอย่างไร  วันนี้ผมขอนำเสนอเรื่องราวจากเหตุการณ์จริงมาเล่าสู่กันฟังอีกเช่นเคย เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อประมาณปลายปีที่แล้ว มีลูกค้าของผมเข้ามาปรึกษาเหตุกรณีพิพาทกับคู่ค้าทางธุรกิจ แกชื่อคุณนิคกี้ (นามสมมุติ)  ประกอบกิจการเสริมความงาม เรื่องของเรื่องก็คือว่า แกไปซื้อหุ้นกิจการเสริมความงามมาจากคนเพื่อนของแกอีกที แต่เพื่อนคนนี้ก็ไม่ค่อยสนิทสนมกันมากเท่าใดนัก รู้จักกันผ่านเพื่อนอีกทีหนึ่ง แกซื้อหุ้นนี้มาในจำนวนมากพอสมควรจนทำให้แกได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในกิจการ ในการซื้อขายเพื่อนก็เอาเอกสารสัญญาโอนหุ้นมาให้แกลงชื่อสัญญาทำกันเป็นสองฉบับเก็บไว้คนละฉบับ (เป็นหุ้นสามัญประเภทระบุชื่อ)  ในวันรุ่งขึ้น เพื่อนก็ไปจัดการแก้ไขสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ให้มีชื่อแกเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท สัดส่วนที่แกถือหุ้นอยู่มีมากกว่า 80% ของหุ้นทั้งหมดในบริษัท เพื่อนของแกคนนี้ก็ยังคงถือหุ้นอยู่ แต่ถือน้อยลงเหลือไม่ถึง 20 พอถึงสิ้นปีเพื่อนแกคนนี้ก็เอาผลประกอบการมาโชว์ให้ดูทุกปีว่ากิจการดีขึ้น และ มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่มีการปันผลเนื่องจากมีเป้าหมายว่า จะขยายสาขา จึงจำเป็นต้องใช้เงินทุนและก็ได้มีการขยายสาขาจริงๆ เงินของบริษัทไม่เพียงพอตัวแกก็ให้ยืมเงินในฐานะส่วนตัวไปเพื่อการขยายสาขาด้วยหลายสิบล้านบาท  พอกิจการขยายสาขาไปได้ตามเป้าหมาย เพื่อนของแกก็เงียบหายไปเลย โทรศัพท์ติดต่อก็ไม่ค่อยจะรับสาย แกรู้สึกไม่สบายใจเลยไปตรวจสอบดูรายชื่อผู้ถือหุ้นที่สำนักงานทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท ปรากฏว่าหุ้นของแกได้หายไปจากสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) แต่ไปอยู่ในชื่อของบุคคลอื่น(ซึ่งแกไม่เคยรู้จักเลย) แกประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเพื่อนของแกคนนี้ เลยนำเรื่องมาปรึกษา ปรากฏว่าเมื่อตรวจสอบสัญญาโอนหุ้นแล้วปรากฏว่าขณะทำสัญญาไม่มีพยานลงชื่อในสัญญาโอนหุ้น และ ไม่ได้กำหนดเลขหมายหุ้นไว้ในสัญญาโอนหุ้น มีเพียงถ้อยคำในทำนองว่าโอนหุ้นกันเป็นจำนวนกี่หุ้นๆละเท่าใดเป็นเงินจำนวนเท่าใด และ ผู้โอนได้รับชำระค่าหุ้นไว้แล้วเป็นเงินเท่าใด ตรวจสอบทราบอีกด้วยว่าเพื่อนของแกคนนี้เป็นกรรมการของบริษัทนี้แต่เพียงผู้เดียว

          ท่านทั้งหลายทราบหรือไม่ครับว่า การโอนหุ้นที่ถูกต้องนั้นต้องทำอย่างไร และ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กรรมการหรือผู้โอนหุ้นนั้นจะมีความผิดอย่างไรบ้าง

  • อันหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของบริษัท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง
  • การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อ ต้องทำเป็นหนังสือต้องลงลายมือชื่อของผู้โอนและผู้รับโอน มีพยานลงชื่อรับรองลายมืออย่างน้อย 1 คน และ ต้องระบุเลขหมายหุ้นที่โอนกันนั้นด้วย ไม่เช่นนั้นผลย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 วรรคสอง
  • กิจกรรมใด (นิติกรรมใด) ที่เป็นโมฆะไม่อาจให้สัตยาบันได้ บุคคลผู้มีส่วนได้เสียจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมนั้นขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 172 และ หากต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากนิติกรรมที่เป็นโมฆะ ให้คืนฐานลาภมิควรได้ มาตรา 172 วรรคสอง
  • จากหลักกฎหมาย และ พฤติการณ์ของกรรมการบริษัทดังกล่าวสัญญาโอนหุ้นย่อมตกเป็นโมฆะ เนื่องจากทำผิดแบบตามที่กฎหมายกำหนด คือไม่มีพยานลงชื่อรับรองลายมือ และ ไม่ได้กำหนดเลขหมายหุ้นที่โอนกันนั้น เมื่อเป็นโมฆะก็เท่ากับว่าไม่เคยมีการโอนหุ้นกันก็เท่ากับว่าผู้รับโอนไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น แม้จะมีชื่อที่ปรากฏอยู่ในสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) แต่เอกสารดังกล่าวก็เป็นแต่เพียงให้สันนิษฐานไว้ก่อนเท่านั้นว่าเป็นข้อมูลที่แท้จริงและถูกต้อง แต่เมื่อสัญญาโอนหุ้นเป็นโมฆะมาแต่แรกแล้ว คุณนิคกี้ก็ไม่อาจอ้างสิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นได้ แต่สามารถฟ้องคดีเรียกเงินที่ได้ชำระค่าหุ้นไปนั้นคืนได้ในฐานลาภมิควรได้
  • แต่อย่างไรก็ดี การจัดทำเอกสารใบหุ้นผู้โอนหุ้นซึ่งเป็นกรรมการเป็นผู้จัดทำและนำไปให้คุณนิคกี้ลงนาม กรรมการย่อมต้องรู้ถึงผลแห่งความเป็นโมฆะกรรมนั้นมาแต่ต้น แสดงให้เห็นเจตนาที่ไม่ บริสุทธิ์มาตั้งแต่แรก แต่กระทำไปเพื่อให้ได้รับเงินค่าหุ้นจากคุณนิคกี้ (เจตนาที่จะหลอกเอาเงินมาตั้งแต่แรก) กรณีอาจถือว่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 และ การที่กรรมการที่รู้ถึงผลแห่งโมฆะกรรมมาตั้งแต่แรกยังจัดทำสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) อันเป็นเท็จนั้นไปยื่นต่อสำนักงานทะเบียนห้างหุ้นส่วน กรณีย่อมเป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 อีกด้วย

      ท่านทั้งหลายเห็นหรือยังครับว่า บางทีการเป็นคนมีเงินเพียงอย่างเดียวก็ไม่ใช่ว่าจะอยู่รอดปลอดภัยในสังคมที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายนี้ได้ เราต้องมีปัญญาด้วย ปัญญาย่อมพาให้เราอยู่รอดปลอดภัย หากคุณนิคกี้มีปัญญาเขาย่อมรู้ว่าเขาควรต้องปรึกษาทนายความหรือนักกฎหมายที่ชำนาญเรื่องนี้โดยเฉพาะก่อนที่จะทำสัญญากับคู่ค้าของเขา การทำไปโดยไม่ตรวจสอบความเสี่ยง ไม่ปรึกษาผู้รู้ ก็เท่ากับขาดปัญญาครับ เมื่อขาดปัญญา การทำการใดๆ โอกาสเจ๊งสูงมากเลยทีเดียว

ทนายนำชัย  พรมทา

โทร. 086-331-4759

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

โทรปรึกษา ฟรี!
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!