การเลิกจ้างนายจ้างอาจเลิกจ้างด้วยวาจา หรือ เกิดขึ้นโดยปริยายก็ได้

Published by law_admin on

Labor case

การเลิกจ้างนายจ้างอาจเลิกจ้างด้วยวาจา หรือ เกิดขึ้นโดยปริยายก็ได้

      การเลิกจ้าง หากนายจ้างเลิกจ้างเป็นหนังสือปัญหาก็คงไม่มีอะไร เวลาไปฟ้องศาลก็จะพิจารณาเหตุของการเลิกจ้างเป็นสำคัญว่านายจ้างเลิกจ้างชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้น และ ลูกจ้างแทบจะ 100% ไม่ทราบว่าการเลิกจ้างยังอาจเกิดขึ้นได้อีก 2 กรณีคือ

  1. นายจ้างอาจบอกเลิกจ้างด้วยวาจาก็ได้ ดังนั้นถ้านายจ้างบอกเลิกจ้างปากเปล่า การเลิกจ้างก็มีผลสมบูรณ์ เพียงแต่มีปัญหาว่าเวลาไปขึ้นศาล นายจ้างอาจไม่ยอมรับว่าเคยพูดเช่นนั้น ดังนั้นหากเป็นการเลิกจ้างปากเปล่าควรมีพยานรู้เห็นหรือมีคลิปเสียงเป็นหลักฐานด้วย หรือ ทุกวันนี้การเลิกจ้างผ่านข้อความทางโทรศัพท์ หรือ การเลิกจ้างผ่านทางไลน์ ก็ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่สมบูรณ์เช่นเดียวกันและถือเป็นหลักฐานชั้นดีอีกเสียด้วย
  2. การเลิกจ้างด้วยการเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ซึ่งภาษากฎหมายเรียกว่า “การเลิกจ้างโดยปริยาย” ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสองกำหนดว่า การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป การเลิกจ้างในลักษณะนี้นายจ้างไม่ได้บอกเลิกจ้างด้วยปากเปล่า และ ก็ไม่ได้บอกเลิกจ้างเป็นหนังสือ แต่กฎหมายก็ถือว่าเป็นการเลิกจ้างเช่นเดียวกัน

      เคยมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1461/2542 วินิจฉัยไว้เป็นแนวทางและเป็นบรรทัดฐานว่า “นายจ้างมอบหมายให้ลูกจ้างเป็นผู้ดูแลและปิดเปิดสำนักงาน ต่อมานายจ้างได้ว่าจ้างบุคคลอื่นมาเป็นแม่บ้านดูแลและทำหน้าที่แทนลูกจ้างและยังเปลี่ยนกุญแจสำนักงานจนลูกจ้างเข้าทำงานในสำนักงานไม่ได้ ทั้งได้เรียกเงินทดรองจ่ายกรณีฉุกเฉินคืน โดยไม่ปรากฏเหตุจำเป็นที่นายจ้างต้องกระทำเช่นนั้น ถือได้ว่านายจ้างมีเจตนาที่จะไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ จึงเป็นการเลิกจ้าง แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12239-12405/2553 ก็วินิจฉัยไว้ในทำนองเดียวกัน

By ทนายนำชัย

แชร์หน้านี้ !!