เรื่องของหุ้น(บริษัทจำกัด)

Published by ทนายสถิตย์ อินตา on

Company shares

เรื่องของหุ้น (บริษัทจำกัด)

“หุ้น” นั้นเป็นลักษณะเฉพาะของบริษัทจำกัด เมื่อบริษัทจะจดทะบียนก็จะต้องมีการแบ่งทุนออกเป็นหุ้น ผู้ถือหุ้นก็จะอาศัยใบหุ้นเป็นตราสารสิทธิในการแสดงความเป็นเจ้าของในกิจการของบริษัท

เรื่องแรกเริ่มตั้งบริษัทนั้น ก็ต้องมีการแบ่งทุนจดทะเบียนของบริษัทออกเป็นหน่วยๆ เรียกว่า “หุ้น” เช่น บริษัทมีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท แบ่งออกเป็น 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็นต้น การแบ่งทุนของบริษัทออกเป็นหุ้นนี้ให้ประโยชน์แก่ตัวบริษัทในการระดมทุน เพราะเมื่อแบ่งย่อยออกเป็นหุ้นแล้วก็ทำให้เกิดความสะดวกในการซื้อขาย ผู้สนใจจะลงทุนในกิจการของบริษัทก็สามารถซื้อหุ้นได้มากน้อยตามอัตภาพ เมื่อซื้อแล้วต่อมาภายหลังไม่ประสงค์ที่จะถือหุ้นต่อไปก็สามารถโอนขายต่อไปให้แก่ผู้อื่นได้

สำหรับราคาของหุ้นแต่ละหุ้นนั้นในทางกฎหมายเรียกว่า “ราคาที่ตราไว้” หรือทางธุรกิจมักจะเรียกทับศัพท์ว่า “ราคาพาร์” (par) ราคาพาร์นั้นกฎหมายกำหนดว่าต้องไม่ต่ำกว่า 5 บาท ( ป... มาตรา 1117) อย่างสูงจะเป็นเท่าไรก็ได้ เช่น อาจจะเป็น 10 บาท หรือ 100 บาท หรือจะเป็น 1,000 บาทก็ได้ ตามแต่ละบริษัทจะเห็นสมควร เช่น บริษัทหนึ่งต้องการจดทะเบียนทุน 1,000,000 บาท  ถ้าพาร์ของบริษัทเท่ากับ 10 บาท บริษัทก็จะมี 100,000 หุ้น แต่กลับกันถ้าหากพาร์ของบริษัทเท่ากับ 1,000บาท บริษัทก็จะมี 1,000 หุ้น อย่างนี้ เป็นต้น

นอกจากนี้ทุนจดทะเบียนของบริษัทจะมีมากน้อยเท่าใด กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ ตามปกติแต่ละบริษัทก็จะกำหนดเอาตามความเหมาะสมตามแต่ว่ากิจการของบริษัทจะต้องใช้เงินทุนมากน้อยเท่าไร ถ้าเป็นกิจการผลิตสินค้าก็อาจจะต้องใช้เงินทุนมากหน่อย เพราะต้องซื้อเครื่องจักรหรือสร้างโรงงาน ทุนจดทะเบียนก็จะสูง แต่ถ้าเป็นกิจการขายบริการ เช่น กิจการรับเขียนซอฟท์แวร์ อะไรทำนองนี้ ก็ไม่ต้องใช้เงินทุนสูงเพราะใช้ตัวบุคคลเป็นหลัก ทุนจดทะเบียนก็อาจจะต่ำมาหน่อย ยกเว้นบางกิจการที่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะว่าจะทำได้ต้องมีทุนจดทะเบียนเท่านั้นเท่านี้ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ เป็นต้น

ผู้ที่จองซื้อหุ้นจะต้องชำระเงินค่าหุ้นให้กับบริษัทในการเรียกเก็บเงิน กฎหมายยินยอมให้บริษัทเรียกเก็บเพียง 25 ก่อนได้ เช่น ราคาพาร์ หุ้นละ 100 บาท ก็เรียกเก็บ 25 บาท ส่วนที่เหลือกรรมการของบริษัทจะเรียกอีกเมื่อใดก็ได้ (ป..พ มาตรา 1120) อาจจะเรียกอีก 25 บาท 50 บาท หรือเรียกเต็ม 75 บาทเลยก็ได้ ในกรณีที่บริษัทเรียกเก็บเงินยังไม่ครบเต็มจำนวนราคาพาร์ ผู้ถือหุ้นก็มีหน้าที่ผูกพันจะต้องจ่ายค่าหุ้นให้ครบเมื่อบริษัทเรียกเมื่อจ่ายจนครบถ้วนหมดแล้วเมื่อใด ผู้ถือหุ้นก็เป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดชอบใดๆ ในบริษัทอีกถึงแม้บริษัทจะประสบความล้มเหลว ต้องล้มเลิกกิจการไป ผู้ถือหุ้นก็ไม่มีอะไรตัองรับผิดชอบมากไปกว่าเงินค่าหุ้นที่จ่ายไปแล้ว เจ้าหนี้ของบริษัทจะมาฟ้องร้องเอาอะไรจากผู้ถือหุ้นก็ไม่ได้ทั้งสิ้น ดังนั้น การเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทก็จะต้องดูว่าหุ้นนั้นชำระเต็มมูลค่าหรือไม่ ถ้ายังชำระไม่เต็ม ผู้ถือหุ้นก็ยังคงมีความรับผิดในส่วนที่ขาดอยู่

สำหรับการชำระเงินค่าหุ้น ผู้ถือหุ้นอาจชำระด้วยทรัพย์สินอื่นที่มีมูลค่าแทนเงินสดก็ได้ เช่น ผู้ถือหุ้นที่มีที่ดิน หรือรถยนต์อาจจะยกที่ดินหรือรถยนต์ให้เป็นของบริษัท และถือว่ามูลค่าของที่ดินหรือรถยนต์เป็น มูลค่าของเงินที่ชำระค่าหุ้น และเข้าเป็นผู้ถือหุ้นจำนวนหุ้นมากน้อยตามมูลค่าของทรัพย์สินนั้น เช่น รถยนต์ราคา 600,000 บาท ก็ได้ หุ้นราคาพาร์ 100 บาท ไป 6,000 หุ้น แต่ในกรณีของที่ดินนั้น ในปัจจุบันมักไม่นิยมนำมาชำระค่าหุ้น เนื่องจากตามกฎหมายภาษีอากรการขายที่ดินผู้ขายต้องเสียภาษีเงินได้และการชำระค่าหุ้นด้วยที่ดินถือว่าเป็นการขายอย่างหนึ่งซึ่งผู้ถือหุ้นก็จะต้องเสียภาษีสำหรับหุ้นที่ได้มาด้วย ดังนั้น การเอาที่ดินมาลงหุ้นจึงไม่เป็นที่นิยมต่อไป นอกจากนี้ทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างตัวตนบางอย่าง เช่น สูตรลับต่างๆ ลิขสิทธิ์ในหนังสือ สิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์อะไรทำนองนี้ ก็ยังสามารถนำมาตีราคาและชำระเป็นค่หุ้นแทนเงินสดได้เช่นกัน มีอยู่อย่างเดียวที่เอาชำระค่าหุ้นไม่ได้ก็คือหนี้ กล่าวคือ ถ้าผู้ซื้อหุ้นบังเอิญเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทอยู่ตอนหลังมาซื้อหุ้นของบริษัทจะขอเอาหนี้ที่บริษัทค้างอยู่มาหักกลบลบหนี้เป็นค่าหุ้นไม่ได้ (ป... มาตรา 1119) เรียกว่าเรื่องหนี้ก็ส่วนหนี้ ค่าหุ้นก็ส่วนค่าหุ้น

อ้างอิง  : บริษัทจำกัด ,รองศาสตราจารย์ พิเศษ เสตเสถียร

ทนายสถิตย์ อินตา

โทร : 083-568-1148

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา

เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com

อ่านบทความ : https://bit.ly/2XVVfKQ

โทรปรึกษา ฟรี!

086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148

E-mail : numchailaw.office@gmail.com

Line Official : @numchailawyers

 

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทากฎหมายนำชัยพรมทาบทความกฎหมายคลังความรู้กฎหมายปรึกษากฎหมายฟรีปรึกษาด้านกฎหมายจ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!