เป็นกรรมการบริษัทต้องรู้กฎหมายแรงงานเพื่อการบริหารกิจการ

Published by law_admin on

เป็นกรรมการบริษัทต้องรู้กฎหมายแรงงานเพื่อการบริหารกิจการ

สำหรับวันนี้เราจะมาคุยกันเรื่อง การกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงาน เรื่องนี้สำคัญอย่างไรต่อการบริหารต้นทุนในกิจการของท่าน

     ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 23 กำหนดว่า 

     “ให้นายจ้างประกาศเวลาทำงานปกติให้ลูกจ้างทราบ โดยกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงานแต่ละวันของลูกจ้างได้ไม่เกินเวลาทำงานของแต่ละประเภทงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่วันหนึ่งต้องไม่เกินแปดชั่วโมง ในกรณีที่เวลาทำงานวันใดน้อยกว่าแปดชั่วโมง นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันให้นำเวลาทำงานส่วนที่เหลือนั้นไปรวมกับเวลาทำงานในวันทำงานปกติอื่นก็ได้ แต่ต้องไม่เกินวันละเก้าชั่วโมงและเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้ว สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง….” 

     เราจะบริหารอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์ตามกฎหมายข้อนี้ล่ะครับ เรามาดูวรรคสองของมาตรานี้กัน “ในกรณีที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันให้นำเวลาทำงานส่วนที่เหลือไปรวมกับเวลาทำงานในวันทำงานปกติอื่นตามวรรคหนึ่งเกินกว่าวันละแปดชั่วโมงให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำเกินสำหรับลูกจ้างรายวันและลูกจ้างรายชั่วโมง…”

นั่นหมายความว่า กฎหมายมาตรานี้ เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องประกาศกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงานในแต่ละวันให้ลูกจ้างทราบ และ สามารถบริหารเวลาดังกล่าวได้ดังนี้

  • กิจการท่านสามารถตกลงกับลูกจ้างให้ทำงานวันหนึ่งเกินกว่า 8 ชั่วโมงได้แต่เมื่อรวมสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง (ซึ่งตามกฎหมายเก่าทำไม่ได้)
  • ถามว่าจะเกิดประโยชน์สำหรับกิจการแบบไหน ก็ต้องบอกว่า จะเกิดประโยชน์มากสำหรับกิจการที่มีลูกจ้างเป็นลูกจ้างรายเดือน และ บางวันก็มีงานให้ลูกจ้างทำ ส่วนบางวันไม่มี หรือ อยากจะบริหารเวลาตามลักษณะของงานได้โดยวันที่งานมีน้อยก็อาจให้ลูกจ้างกลับบ้านไปก่อนได้ ส่วนวันที่มีงานมากก็ให้ลูกจ้างทำงานเกิน 8 ชั่วโมง อย่างนี้ท่านก็บริหารเวลาได้มากขึ้น (ซึ่งกฎหมายแรงงานเก่าทำแบบนี้ไม่ได้ครับ)
  • กรณีสำหรับลูกจ้างรายเดือนถ้าท่านบริหารตามที่อธิบายไปข้างต้น ท่านไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา ไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนสำหรับเวลาทำงานที่ลูกจ้างทำเกินไปนั้น แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ ท่านต้องตกลงกับลูกจ้าง ไม่ใช่ทำไปโดยพลการนะครับ

ทนายนำชัย พรมทา

086-331-4759


แชร์หน้านี้ !!