เลิกจ้างต้องบอกเหตุผลทุกครั้ง ไม่เช่นนั้น แพ้คดี

Published by law_admin on

Labor case

เลิกจ้างต้องบอกเหตุผลทุกครั้ง ไม่เช่นนั้น แพ้คดี

     ลูกจ้างหลายคนเข้าใจแบบผิดๆว่า เมื่อตนเองทำผิดระเบียบนายจ้างแล้ว ก็ไม่ค่อยกล้าฟ้องคดีเพราะคิดว่ายังไงก็แพ้คดี ถ้าเข้าใจแบบนั้น ก็ต้องขอบอกว่า ถูกเพียงครึ่งเดียวครับเพราะการต่อสู้คดีกันในศาลแรงงานนั้น ศาลหรือผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีจะทำหน้าที่เป็นทนายความในการซักถามพยานให้ อีกทั้งมีเท็คนิคหรือช่องทางกฎหมายที่อาจชนะคดีได้ อย่างเช่น “เหตุผลของการเลิกจ้าง” นายจ้างบางรายเลิกจ้างผิดพลาดเองลืมยกเหตุผลของการเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้าง ถ้าเป็นแบบนี้ นายจ้างก็แพ้คดีแทบจะร้อย% เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดว่า เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างต้องระบุเหตุที่เลิกจ้างนั้นไว้ด้วย และถ้าไม่ระบุเหตุเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบขณะเลิกจ้าง จะมาระบุเหตุเพิ่มเติมทีหลังไม่ได้ พูดง่ายๆว่า ถ้าลืมก็แพ้คดี แม้ลูกจ้างจะทำผิดระเบียบจริงก็ตาม

     เทียบเคียงเป็นแนวทางตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3873/2543 แม้นายจ้างจะอ้างว่าลูกจ้างกระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างอันมีลักษณะตามข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างตามมาตรา 119 แต่เมื่อนายจ้างไม่ได้อ้างเหตุดังกล่าวไว้ในหนังสือเลิกจ้าง โดยนายจ้างเพิ่งจะยกเหตุนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การเมื่อถูกลูกจ้างฟ้องคดี ศาลแรงงานย่อมไม่สามารถจะหยิบยกข้อต่อสู้ของนายจ้างมาประกอบการพิจารณาได้เพราะต้องห้ามตามมาตรา 119 วรรคท้าย

หมายเหตุ ทั้งนี้ยังหมายความรวมถึงการยกเหตุแห่งการเลิกจ้างผิดไปจากความเป็นจริงด้วยนะครับ เช่น ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ แต่ไปกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่ อย่างนี้เป็นต้น

By ทนายนำชัย

แชร์หน้านี้ !!