เลิกจ้างเพราะลูกจ้างเกษียณอายุการทำงาน ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่

Published by law_admin on

Labor case

เลิกจ้างเพราะลูกจ้างเกษียณอายุการทำงาน ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่

      ตามคำเรียกร้องของทุกท่านนะครับ มีคนถามเข้ามามากเหลือเกินว่า ในกรณีนายจ้างเลิกจ้างเพราะลูกจ้างเกษียณอายุการทำงานตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของของนายจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่อย่างไร คำตอบคือ “ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง” ทั้งนี้เพราะถือว่าเป็นการที่นายจ้างเลิกจ้าง ก่อนหน้านี้ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยตรง แต่เป็นการตีความตามหลักกฎหมายแรงงาน เพราะกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย มีกำหนดไว้ในกฎหมายโดยเฉพาะเท่านั้น เช่น กำหนดข้อยกเว้นไว้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 31 หรือ ลูกจ้างทำงานยังไม่ครบ 120 วัน อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้น เมื่อการเลิกจ้างไม่เข้าข้อยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนด นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ก็มีนายจ้างบางรายต่อสู้ว่า การที่ลูกจ้างเกษียณอายุ ไม่ใช่เป็นกรณีที่นายจ้างเลิกจ้าง ซึ่งเคยมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้เป็นแนวทางและเป็นบรรทัดฐานว่า “ลูกจ้างมีอายุครบ 60 ปี ต้องพ้นสภาพพนักงานเนื่องจากเกษียณอายุตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานต่อมา ถือเป็นการต่ออายุสัญญาและเป็นการขยายระยะเวลาการเกษียณอายุของลูกจ้างด้วย 2 ปีต่อมา ลูกจ้างขอใช้สิทธิเกษียณอายุการทำงานและนายจ้างได้อนุมัติ ย่อมถือว่าลูกจ้างได้พ้นจากการเป็นลูกจ้างเนื่องจากเกษียณอายุ มิใช่เป็นการลาออก นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1617/2547

      สำหรับปัจจุบันไม่ต้องเถียงกันให้วุ่นวาย เพราะพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี พ.ศ.2560 มาตรา 118/1 กำหนดให้การเกษียณอายุการทำงาน ถือเป็นการเลิกจ้าง และ กฎหมายยังกำหนดไว้ชัดแจ้งเลยว่า นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118 วรรคหนึ่ง

By ทนายนำชัย

แชร์หน้านี้ !!