แจ้งความเท็จ เพื่อขอออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้อื่น

Published by ทนายสถิตย์ อินตา on

แจ้งความเท็จ เพื่อขอออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้อื่น

 

บัตรประจำตัวประชาชนมีมูลค่าเพียงใด คนไม่มีเท่านั้นที่จะรู้? … บัตรประจำตัวประชาชนรับรองสิทธิต่างๆมากมาย เช่น สิทธิในการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ สิทธิในการศึกษา สิทธิในการอยู่อาศัยในราชอาณาจักรได้อย่างถูกต้อง ซึ่งสิทธิต่างๆเหล่านี้จะถูกคุ้มครองโดยกฎหมาย ดังนั้น จึงมีบุคคลต่างด้าวมากมายที่ต้องการจะมีบัตรประชาชนเป็นคนไทย เพื่อให้ได้รับสิทธิต่างๆ

มีตัวอย่างคดีอยู่เรื่องหนึ่งว่า… จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ ก. เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ออกบัตรประจำตัวประชาชน โดยกรอกข้อความเท็จในแบบคำขอออกบัตรประจำตัวประชาชน และเสนอต่อ ส. พนักงานเจ้าที่ที่รับผิดชอบเพื่อออกบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการให้แก่ ง. กับ ค. โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ก. และ ส. พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้อื่นและประชาชน ผิดมาตรา 137 , 267  ( 2 กระทง)

ฎีกาที่ 605/2546 จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ ว. เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ในการออกบัตรประจำตัวประชาชน โดยกรอกข้อความในแบบคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนและจำเลยนำแบบคำขอดังกล่าวเสนอ ส. พนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเพื่อให้ดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการให้แก่ ง. และ ก. เป็นการกระทำผิดโดยมีเจตนาเพื่อช่วยเหลือบุคคลสองคนให้ได้รับบัตรประจำตัวประชาชนแม้จะกระทำในวันเดียวกัน สถานที่เดียวกันแต่เจตนาในการกระทำผิดเป็นคนละส่วนแยกต่างหากจากกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรม มิใช่กรรมเดียว

 

หมายเหตุ : หากแจ้งความเท็จให้เจ้าพนักงานจดข้อความลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานด้วย ก็จะมีความผิดทั้งมาตรา 137 และมาตรา 267 , หากเป็นการแจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา เป็นความผิดตามมาตรา 172 หรือหากมิได้มีการกระทำแต่แจ้งความว่าได้มีการกระทำความผิดแก่เจ้าพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา เป็นความผิดตามมาตรา 173

สถิตย์  อินตา ทนายความ

083-568-1148

แชร์หน้านี้ !!