การให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุม

Published by ทนายสถิตย์ อินตา on

การให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุม

คำถาม การให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการช่วยเหลื่อผู้อื่นโดยให้เป็นข้อหาให้เบาลง จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 หรือไม่ ? 

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

คำตอบ  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3096/2552  

คำพิพากษาย่อสั้น : จำเลยทั้งสองไปติดต่อกับดาบตำรวจ ช. เพื่อขอให้ช่วยเหลือ พ. กับพวก โดยเปลี่ยนข้อหาจากเดิมข้อหาร่วมกันมีแมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเป็นข้อหาร่วมกันมี เมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเสนอให้เงิน 70,000 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ขอให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้ดาบตำรวจ ช. ไปดำเนินการให้ผู้บังคับบัญชากระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ เมื่อพันตำรวจตรี ต. ผู้บังคับบัญชาของดาบตำรวจ ช. ทราบความประสงค์ของจำเลยทั้งสองจากดาบตำรวจ ช. และวางแผนจับกุมโดยตอบตกลงและนัดหมายให้นำเงินมอบให้ และจับกุมได้พร้อมเงินของกลาง จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ขอให้ทรัพย์สินแก่ดาบตำรวจ ช. และพันตำรวจตรี ต. เพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 

โจทก์ฟ้องว่า ดาบตำรวจ ช. ได้จับกุม พ. กับพวกในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน จำเลยทั้งสองให้ทรัพย์สินแก่ดาบตำรวจ ช. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการปล่อยตัว พ. กับพวกซึ่งเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ แต่ในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยทั้งสองกระทำการเพื่อจูงใจให้ดาบตำรวจ ช. ดำเนินการช่วยเหลือ พ. กับพวกโดยเปลี่ยนข้อหาให้เบาลง ก็มิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญ ทั้งนี้เพราะไม่ว่าจะเป็นการให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้ปล่อยตัวหรือเปลี่ยนข้อหาก็ล้วนแต่เป็นการจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 เช่นเดียวกัน เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยทั้งสองตามที่พิจารณาได้ความนั้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง 

คำพิพากษาย่อยาว โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2544 เวลากลางวันดาบตำรวจชัยยันต์เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายอาญาได้จับกุมนายไพรัช และนางราตรีในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน จำเลยทั้งสองให้ทรัพย์สินเป็นธนบัตรชนิดต่างๆ รวม 69,500 บาท แก่ดาบตำรวจชัยยันต์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้ปล่อยตัว นายไพรัชและนางราตรี อันเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144, 83 และริบของกลาง 

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ 

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 8 เดือน ริบของกลาง 

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ 

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน 

จำเลยทั้งสองฎีกา 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ดาบตำรวจชัยยันต์ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตั้งหรือเปลี่ยนข้อหานายไพรัช และนางราตรีได้ตามกฎหมายเพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พนักงานตำรวจที่จะเป็นผู้แจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาภายหลังจากที่มีการทำบันทึกจับกุมและนำตัวผู้ต้องหามายังสถานที่ทำการของพนักงานตำรวจแล้วคือพนักงานสอบสวนเท่านั้น ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยมาแล้ว จากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงส่วนนี้ว่าในวันเกิดเหตุตามฟ้อง หลังจากดาบตำรวจชัยยันต์จับกุมนายไพรัชกับพวกและควบคุมตัวไปที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรีเพื่อดำเนินคดี ต่อมาในวันดังกล่าวจำเลยทั้งสองไปติดต่อกับดาบตำรวจชัยยันต์ขอให้ช่วยเหลือนานไพรัชกับพวกโดยเปลี่ยนข้อหาจากเดิมเป็นข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ใครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยตกลงจะให้เงินจำนวน 70,000 บาท ดาบตำรวจชัยยันต์จึงไปรายงานให้พ้นตำรวจตรีชาติชายผู้บังคับบัญชาทราบและวางแผนจับกุมโดยตอบตกลงและนัดหมายให้จำเลยทั้งสองนำเงินไปมอบให้ที่ด้านหลังสำนักงานกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรีในวันเดียวกัน เวลา 11 นาฬิกา เมื่อจำเลยทั้งสองไปพบดาบตำรวจชัยยันต์กับพวกตามนัดและมอบเงินให้ ดาบตำรวจชัยยันต์กับพวกจับกุมจำเลยทั้งสองทันที ตามข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติดังกล่าว การที่จำเลยทั้งสองไปติดต่อกับดาบตำรวจชัยยันต์เพื่อขอให้ช่วยเหลือนายไพรัชกับพวก โดยเปลี่ยนข้อหาจากเดิมข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเป็นข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น โดยเสนอให้เงินจำนวน 70,000 บาท นั้น ย่อมเป็นการกระทำที่จำเลยทั้งสองมุ่งประสงค์ขอให้ทรัพย์สิน เพื่อจูงใจให้ดาบตำรวจชัยยันต์ไปดำเนินการให้ผู้บังคับบัญชากระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ เมื่อพันตำรวจตรีชาติชายผู้บังคับบัญชาของดาบตำรวจชัยยันต์ทราบความประสงค์ของจำเลยทั้งสองจากดาบตำรวจชัยยันต์และวางแผนจับกุมโดยตอบตกลงและนัดหมายให้จำเลยทั้งสองนำเงินมอบให้ และจับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมเงินของกลาง การกระทำของจำเลยทั้งสองดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังมาจึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ขอให้ทรัพย์สินแก่ดาบตำรวจชัยยันต์และพันตำรวจตรีชาติชายเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยดังนั้น การที่ดาบตำรวจชัยยันต์จะมีหน้าที่ในการตั้งหรือเปลี่ยนข้อหาแก่ผู้ต้องหาหรือไม่ จึงหาใช่สาระสำคัญไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น 

อนึ่ง แม้ว่าคดีนี้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า ดาบตำรวจชัยยันต์ได้จับกุมนายไพรัชกับพวกในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน จำเลยทั้งสองให้ทรัพย์สินแก่ดาบตำรวจชัยยันต์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการปล่อยตัวนายไพรัชกับพวกซึ่งเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ แต่ในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยทั้งสองกระทำการเพื่อจูงใจให้ดาบตำรวจชัยยันต์ดำเนินการช่วยเหลือนายไพรัชกับพวก โดยเปลี่ยนข้อหาให้เบาลงก็ตาม ก็หาใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญไม่ ทั้งนี้เพราะไม่ว่าจะเป็นการให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้ปล่อยตัวหรือเปลี่ยนข้อหาก็ล้วนแต่เป็นการจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 เช่นเดียวกัน เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยทั้งสองตามที่พิจารณาได้ความนั้นได้ ทั้งนั้น ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น” 

พิพากษายืน 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 

รวบรวม 

ทนายสถิตย์ อินตา

โทร. 083- 5681148

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

โทรปรึกษา ฟรี!
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!