โพสต์ด่า แต่ไม่ได้ระบุชื่อ จะเป็นหมิ่นประมาทหรือไม่

Published by law_admin on

โพสต์ด่า แต่ไม่ได้ระบุชื่อ จะเป็นหมิ่นประมาทหรือไม่

โพสต์ด่า แต่ไม่ได้ระบุชื่อ จะเป็นหมิ่นประมาทหรือไม่ ?

 

ปัจจุบันการติดต่อสื่อสารด้วยเครือข่างสังคมออนไลน์ผ่านทางแอพพลิเคชันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไลน์ (Line) หรือเฟซบุ๊ก (Facebook) ต่างเป็นที่ยอมรับทั้งในภาคสังคมและภาคธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อทำให้ไลน์และเฟซบุ๊ก ต่างเป็นแอพพลิเคชันสังคมออนไลน์ที่หยิกยกขึ้นมาเป็นประทางกฎหมายอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาทอันเนื่องมาจากข้อความที่ถูกโพสต์ ดังนั้น ในวันนี้ผมจะเอาเรื่องราวคดีจริงมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกัน ถึงประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทที่เกี่ยวข้อวกับการโพสต์ข้อความลงในไลน์ (Line) หรือเฟซบุ๊ก (Facebook) ดังนี้

การโพสต์ข้อความลงในไลน์ (Line) หรือเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นได้ ข้อความนั้นจะต้องมีลักษณะเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง และข้อความที่ถูกโพสต์นั้นต้องเป็นข้อความที่ยืนยันข้อเท็จจริง และข้อความความนั้นจะต้องระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความให้ชัดเจนว่าหมายถึงบุคลใดด้วย หากมีการปกปิดตัวบุคคลด้วยตัวอักษรย่อ และจะทราบได้ว่าบุคคลตามอักษรย่อนั้นหมายถึงใครต้องไปสืบค้นหาข้อมูลจากแหล่งอื่นเพิ่มเติมจึงเป็นกรณีที่ผู้อื่นข้อความที่โพสต์แล้วไม่อาจทราบหรือเข้าใจข้อความที่โพสต์ได้ว่าบคุคลตามอักษรย่อนั้นหมายถึงบุคคลใดจากข้อความที่โพสต์ แต่ทราบจากการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งอื่น กรณีเช่นนี้ผู้โพสต์ข้อความจะไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2551

          ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2551 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับราชการตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 มีหน้าที่สืบสวนผู้กระทำผิดให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาระดับสูง จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดใช้ชื่อว่า บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวันผู้จัดการ จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์รายวันชื่อผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ในการรับผิดชอบจัดทำ ตรวจแก้ คัดเลือก หรือควบคุมบทประพันธ์ หรือสิ่งใดในหนังสือพิมพ์รายวันผู้จัดการและหรือจัดการรับผิดชอบในการพิมพ์ ในการผลิตสิ่งพิมพ์จัดการการแพร่หลายด้วยประการใด ๆ ไม่ว่าเป็นด้านการขาย เสนอขาย แจกจ่าย หรือเสนอแจกจ่าย และไม่ว่าจะเป็นการให้เปล่าหรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของกิจการอาบอบนวด 6 แห่ง ในกรุงเทพมหานคร และเป็นผู้ต้องหาในคดีรื้อบาร์เบียร์อยู่ในเขตรับผิดชอบของโจทก์ จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2546 เวลากลางวันจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันใส่ความโจทก์ต่อผู้อ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน โดยจำเลยที่ 3 ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวในคอลัมนิสต์ ข่าวปนคน คนปนข่าว หน้าที่ 16 เจ้าของคอลัมน์นิสต์ใช้นามปากกาว่า “เซี่ยงเส้าหลง” โดยมีข้อความส่วนหนึ่งความว่า “แน่นอนว่าหัวหน้าผู้รักษากฎหมายในท้องที่ ล. ที่มีชื่ออักษรย่อ ป.ว. ต้องรับรู้มาตั้งแต่ต้น รวมทั้งเป็นไปไม่ได้ที่หน่วยเหนือระดับกองบังคับการหมายเลข 5 ภายใต้การบังคับบัญชาของ พ. ที่จะกำลังเกษียณในปี 2546 จะไม่ได้รับรู้มาแต่ต้นเช่นกัน เพราะก่อนปฏิบัติงานตัวแทนบริษัทผู้รับเหมาได้ส่งทนายความไปลงบันทึกประจำวันไว้ล่วงหน้าแล้วที่ท้องที่ ล. เนื่องจากเห็นเป็นเรื่องใหญ่ เกรงจะมีปัญหาทางกฎหมาย ทั้ง พ. และ ป.ว. ในช่วงระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2546 ได้รับเงินบรรณาการจากจำเลยที่ 3 ที่ต้องการเคลียร์ตนเองให้พ้นจากคดีนี้ไปรวมกัน 8 ล้านบาท โดย พ. รับไป 3 ล้านบาท ป.ว. รับไป 5 ล้านบาท นอกจากนี้ ป.ว. เป็นคนพาจำเลยที่ 3 เข้าไปพบ ส. ตัวสูง เพื่อให้พาเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รับผิดชอบค่าเสียหายแก่บรรดาบาร์เบียร์ที่ถูกรื้อ ป.ว. ซึ่งอยู่ในท้องที่ ล. มาแล้ว 5 ปี เป็นคนในเครือข่าย ส. ตัวสูง เข้านอกออกในบ้านเป็นปกติ ในขณะที่ พ. เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับ ส. ตัวสูง ซึ่งผู้บังคับการ พ. ที่ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณมีเรื่องเล่าว่าในชั้นต้นได้เพียง 2 ล้านบาท จึงส่งกลับคืน พร้อมบอกว่าไม่พอ จึงได้รับเพิ่มไปอีก 1 ล้าน” โดยจำเลยที่ 3 ได้ให้สัมภาษณ์อันเป็นการจูงใจให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำการใด ไม่ว่าด้วยการใช้บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันตีพิมพ์ข้อความดังกล่าว ทั้งนี้จำเลยทั้งสามมีเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์หรือประชาชนเข้าใจว่าโจทก์เรียกรับเงินจากจำเลยที่ 3 โดยผิดกฎหมาย ทั้งนี้ตามข้อความที่ให้สัมภาษณ์อันเป็นการจูงใจให้ประชาชนผู้อ่านหนังสือพิมพ์รายวันผู้จัดการ เข้าใจว่าโจทก์รับราชการประพฤติมิชอบ เรียกรับเงินจากจำเลยที่ 3 โดยผิดกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ทราบว่าข้อความที่จำเลยที่ 3 ให้สัมภาษณ์ดังกล่าวย่อมทำให้ประชาชนและผู้อ่านหนังสือพิมพ์มีความรู้สึกไม่ดีต่อโจทก์ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 ว่าประพฤติมิชอบ ทั้งนี้ จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดว่า โจทก์รับ “ส่วน” และข้อความที่จำเลยที่ 3 ให้สัมภาษณ์นั้นเป็นการอ้างลอย ๆ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็รู้อยู่แก่ใจว่าย่อมทำให้เกิดความเสียหายเสียชื่อเสียงต่อวงศ์ตระกูลและตำแหน่งหน้าที่การงานชั่วอายุราชการของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 3 กระทำผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้อาศัยโอกาสจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ หรือเนื่องจากการประกอบวิชาชีพตีพิมพ์ข้อความดังกล่าวโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของโจทก์และผู้อื่นที่ถูกกล่าวหาโดยปราศจากมูลความเป็นจริง ทั้งนี้ จำเลยทั้งสามก็รู้อยู่แก่ใจว่าข้อความที่จำเลยที่ 3 ให้สัมภาษณ์และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ตีพิมพ์ข้อความดังกล่าวข้างต้น ไม่ใช่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนพึงกระทำ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการใส่ความโจทก์ ต่อผู้อ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน และผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หากให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นต่อไปอาจเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดผลเช่นนั้นอีก โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น เหตุเกิดทั่วราชอาณาจักร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 48 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 50, 80, 83, 84, 85, 86, 87, 90, 91, 326, 328 และมาตรา 332 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2535 มาตรา 3, 4 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 7 และข้อ 8 และสั่งให้จำเลยทั้งสามโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, ไทยรัฐ, เดลินิวส์, สยามรัฐ, เดอะเนชั่น, กรุงเทพธุรกิจ, มติชน, ข่าวสด, ประชาชาติ, แนวหน้า, บ้านเมือง, ผู้จัดการ, คมชัดลึก, บางกอกโพสต์, รวม 14 ฉบับ เป็นเวลา 15 วันติดต่อกัน โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาเอง หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในการชำระค่าโฆษณา ให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งยึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระค่าโฆษณาโดยโจทก์ขอถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนา และยึดและทำลายหนังสือพิมพ์รายวัน “ผู้จัดการ” ประจำวันที่ 25 กรกฎาคม 2546 ฉบับที่ 3938 (3936) และห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 5 ปี

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อความที่โจทก์อ้างว่า เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ บุคคลทั่วไปที่รับทราบข้อความดังกล่าวไม่อาจทราบได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่โจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจึงไม่ครบองค์ประกอบของความผิด พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าข้อความตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ที่ระบุว่า ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณนั้น เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ข้อความดังกล่าวผู้อ่านรู้ได้ว่าหมายความถึงโจทก์ศาลชั้นต้นควรที่จะไต่สวนมูลฟ้องให้ได้ความเสียก่อนว่าข้อความดังกล่าวหมายความถึงโจทก์หรือไม่ ไม่สมควรพิพากษายกฟ้องโดยไม่ทำการไต่สวนมูลฟ้อง พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะและความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้นต้องพิเคราะห์จากข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็นผู้ใด ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2546 ตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ที่โจทก์อ้างมานั้น ไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์หรือพอจะให้ทราบได้ว่าเป็นโจทก์ ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณนั้น ก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใดชื่อที่ระบุเป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้น และมิได้ระบุนามสกุลอย่างใดเลยทั้งสถานที่ทำงานกองบังคับการหมายเลข 5 ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใดบุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม่ หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมทั้งไม่แน่ว่าหลังจากสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่และหากหลังจากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบความหมายจากการที่บุคคลผู้นั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง หาได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ท้ายฟ้องไม่ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ลำพังแต่ข้อความที่ลงพิมพ์ตามฟ้อง ไม่พอฟังได้ว่าเป็นตัวโจทก์ คดีไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องอีกต่อไปแล้วพิพากษายกฟ้องโดยไม่ทำการไต่สวนมูลฟ้องนั้นชอบแล้ว”

พิพากษายืน

สถิตย์ อินตา ทนายความ

โทร. 083-5681148

 

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

โทรปรึกษา ฟรี!
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!