บุคคลซึ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์

Published by law_admin on

บุคคลซึ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์

บุคคลซึ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาจะยกสิทธิของตนเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลหรือบุคคลผู้รับโอนที่ดินจากบุคคลดังกล่าวมาได้หรือไม่ ?

คำตอบ คือ ไม่ได้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกกระทำการโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง และมาตรา 1300

เทียบเคียงจากคําพิพากษาฎีกาที่ 3140/2562

จำเลยซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นิติกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม   ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่ผู้ขายได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้เข้าครอบครองปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลากว่า 10 ปี จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แต่การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกรณีดังกล่าวเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมเมื่อยังมิได้จดทะเบียนจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกกระทำการโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง และมาตรา 1300

ในการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทตามคำสั่งศาลชั้นต้น กองทุนรวม บ. ผู้ซื้อซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นผู้กระทำการโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 จำเลยกล่าวอ้างว่ากองทุนรวม บ. และโจทก์ร่วมกันกระทำการโดยไม่สุจริตจึงมีภาระการพิสูจน์

กองทุนรวม บ. ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล และโจทก์ผู้รับโอนที่ดินพิพาทต่อมา ซึ่งถือว่าเป็นผู้สืบสิทธิของกองทุนรวม บ. ได้กระทำการรับโอนไว้โดยสุจริตเช่นกัน กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของกองทุนรวม บ. และของโจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 การที่จำเลยซึ่งซื้อที่ดินพิพาทและเข้าทำประโยชน์ปลูกบ้านอยู่อาศัยจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่อาจยกขึ้นต่อสู้กองทุนรวม บ. บุคคลภายนอกผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลและต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิโดยสุจริตได้และการที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่วันที่กองทุนรวม บ. โอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ถึงวันที่จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ออกจากที่ดินพิพาทยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ในช่วงหลังนี้ ดังนั้น เมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยยังคงเพิกเฉยย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยและบริวารให้ออกจากที่ดินพิพาทได้ ทั้งมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินพิพาทได้ด้วย

ทนายสถิตย์ อินตา

โทร. 083- 568-1148

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!