ผู้ถือหุ้นคนเดียวก็เลิกบริษัทได้ ทำอย่างไร

Published by law_admin on

ผู้ถือหุ้นคนเดียวก็เลิกบริษัทได้ ทำอย่างไร
ผู้ถือหุ้นคนเดียวก็เลิกบริษัทได้ ทำอย่างไร

ผู้ถือหุ้นคนเดียวก็เลิกบริษัทได้ ทำอย่างไร

          มีท่านผู้อ่านทางบ้านท่านหนึ่ง (ผมให้นามสมมุติว่า “คุณหนึ่ง”) สอบถามผมมาโดยเล่าปัญหาให้ผมฟังว่าเมื่อหลายปีก่อนคุณหนึ่งได้ร่วมกับเพื่อนเปิดบริษัทเพื่อซื้อที่ดินมาพัฒนาเพื่อขายผู้ถือหุ้นใหญ่หลักๆก็มีคุณหนึ่งกับเพื่อนโดยเพื่อนถือหุ้นอยู่ 60% คุณหนึ่งถือหุ้นอยู่ 20% ส่วนหุ้นที่เหลืออีก 20% ถือโดยตัวแทนของเพื่อน สรุปก็คือเพื่อนถือหุ้น 80% นั่นเอง และ เพื่อนก็เป็นกรรมการบริษัทด้วย เมื่อตั้งบริษัทแล้วก็ได้มีการซื้อที่ดินในนามบริษัทหลายแปลง แต่ยังไม่ทันจะได้นำที่ดินไปพัฒนา เพื่อนคุณหนึ่งซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น และ ก็เป็นกรรมการด้วยนั้น เสียชีวิตไป นับแต่นั้นบริษัทก็หยุดชะงักไป คุณหนึ่งพยามติดต่อครอบครัวของเพื่อนคนที่เสียชีวิตเพื่อให้เขาดำเนินธุรกิจต่อไป ก็ไม่มีใครมาดำเนินการอะไร ตัวคุณหนึ่งเองถือหุ้นเพียง 20% ก็ทำอะไรต่อไปไม่ได้ และนับแต่เพื่อนเสียชีวิตจนมาถึงวันนี้ก็จะเข้าปีที่ 4 แล้ว จนสุดท้ายคุณหนึ่งมีความคิดที่จะเลิกบริษัทและทำการชำระบัญชี อย่างน้อยที่ดินที่บริษัทซื้อไว้เมื่อชำระบัญชีก็ต้องขายที่ดิน คงจะพอมีเงินเหลือและคืนแกได้บ้าง ว่าแล้วคุณหนึ่งก็ไปปรึกษาสำนักงานบัญชีเพื่อว่าจะจดทะเบียนเลิกบริษัท สำนักงานบัญชีก็บอกคุณหนึ่งว่า คุณหนึ่งไม่สามารถเลิกบริษัทได้ เพราะคุณหนึ่งไม่ได้เป็นกรรมการบริษัทที่จะเซ็นคำขอจดทะเบียนเลิกบริษัทได้ คุณหนึ่งเลยลองไปปรึกษาสำนักงานทนายอยู่แถวๆบ้าน ก็ได้รับคำตอบคล้ายๆกัน ทนายความแถวบ้านคุณหนึ่งบอกว่า คุณหนึ่งจดทะเบียนเลิกบริษัทไม่ได้ เพราะประการแรก คุณหนึ่งไม่ได้เป็นกรรมการบริษัทที่จะมีอำนาจเซ็นคำขอจดทะเบียนเลิกบริษัทได้ ประกาที่ 2 คือไม่สามารถจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติพิเศษให้เลิกบริษัทได้ คุณหนึ่งแกเลยสงสัยว่ามันจะไม่มีทางออกให้แกเลยทีเดียวหรือ เลยสอบถามเข้ามาทางอีเมลของผม และผมก็เห็นว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจ เลยเอาคำตอบที่ผมตอบคุณหนึ่ง มาให้ท่านผู้อ่านได้ลองพิจารณาไปพร้อมๆกัน

          หลายคนคงเข้าใจว่าการเลิกบริษัททำได้เพียงการนัดประชุมผู้ถือหุ้นแล้วผู้ถือหุ้นมีมติพิเศษให้เลิกบริษัทเท่านั้นถึงจะเลิกบริษัทได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1236 (4) บางคนก็เข้าใจมากขึ้นก็พอรู้ว่านอกจากผู้ถือหุ้นจะมีมติพิเศษให้เลิกบริษัทได้แล้ว บริษัทยังอาจเลิกได้โดยผลของกฎหมายคือ บริษัทล้มละลายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1236 (5) แต่หลานท่านอาจจะลืมคิดไปว่า ยังมีเหตุให้เลิกบริษัทโดยคำสั่งศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1237 อีก และผมตอบคุณหนึ่งไปว่าอย่างไรเราลองมาดูกัน

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๓๗ “นอกจากนี้ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดด้วยเหตุต่อไปนี้ คือ

() ถ้าทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท

() ถ้าบริษัทไม่เริ่มทำการภายในปีหนึ่งนับแต่วันจดทะเบียน หรือหยุดทำการถึงปีหนึ่งเต็ม

() ถ้าการค้าของบริษัททำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีทางหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้

() ถ้าจำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือไม่ถึงสามคน

() เมื่อมีเหตุอื่นใดทำให้บริษัทนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้”

          ผมตอบคำถามคุณหนึ่งด้วยกฎหมายเพียงมาตราเดียวเลย คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1237 คือเลิกโดยการยื่นคำร้องขอต่อศาล ซึ่งตามข้อเท็จจริงคุณหนึ่งสามารถใช้เหตุตามมาตรา 1237 (2) ตอนท้ายที่ว่าบริษัทหยุดทำการถึง 1 ปี เต็มก็ได้ เพราะตามข้อเท็จจริงก็ทราบว่าเพื่อนได้เสียชีวิตไปจนถึงวันนี้ก็ย่างเข้าปีที่ 4 แล้ว หรือ อาจใช้เหตุตามมาตรา 1237 (5) คือการที่คุณหนึ่งไม่สามารถติดต่อผู้ถือหุ้นได้ และ เมื่อติดต่อครอบครัวของเพื่อนก็ไม่มีผู้ใดสนใจที่จะดำเนินการต่อไป คุณหนึ่งถือหุ้นเพียง 20% ย่อมทำอะไรต่อไปเพียงลำพังไม่ได้อยู่แล้ว จึงเข้าเหตุว่ามีเหตุอื่นอันทำให้บริษัทเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้

          คุณหนึ่งเป็นผู้ถือหุ้น เป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัทเลิกกันได้ด้วยเหตุที่ผมบอกไปข้างต้น และ ในคำร้องคุณหนึ่งควรขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีไปพร้อมกันด้วย และเมื่อศาลมีคำสั่งให้เลิกบริษัทแล้ว ศาลก็จะสั่งตั้งคุณหนึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีด้วย เพียงเท่านี้คุณหนึ่งก็จะได้เลิกบริษัทสมใจ และ ได้ชำระบัญชีขายที่ดินเอาเงินมาชำระบัญชีและจ่ายทุนคืนผู้ถือหุ้นต่อไป

ทนายนำชัย พรมทา

086-3314759

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!