ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ฟ้องขอค่าเลี้ยงดูบุตรได้หรือไม่

Published by law_admin on

ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ฟ้องขอค่าเลี้ยงดูบุตรได้หรือไม่
ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ฟ้องขอค่าเลี้ยงดูบุตรได้หรือไม่

ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ฟ้องขอค่าเลี้ยงดูบุตรได้หรือไม่

          สังคมโลกมักเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงที่เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะ “อยู่ก่อนแต่ง มากขึ้น เพื่อเป็นการทดลองใช้ชีวิตคู่ร่วมกันก่อนที่จะตัดสินใจแต่งงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย    (จดทะเบียนสมรส)

          แต่ก็มีไม่น้อยที่ระหว่างอยู่กินร่วมกันแบบไม่จดทะเบียนสมรสนั้น ปัญหาหนึ่งที่ไม่ค่อยจะได้วางแผนไว้ คือเรื่องของการตั้งครรภ์  และนำมาซึ่งปัญหาในทางกฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตกรณีที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองไม่อาจจะไปต่อได้ หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่าเลิกกันนั้นเอง แต่ถ้าคู่ไหนเลิกกันดี ก็ถือว่าโชคดี แต่จากประสบการณ์ของผมในฐานะทนายความแล้ว มักจะเลิกกันไม่ดี และยังส่งผลถึงเด็กที่เกิดมาด้วย

          ดังนั้น ในวันนี้สำนักงานฯ เราจึงขอหยิบยกเอาประเด็นเรื่อง การไม่ได้จดทะเบียนสมรสจะฟ้องขอค่าเลี้ยงดูบุตรได้หรือไม่ ? มาเล่าให้ทุกท่านฟัง

           เนื่องจากในกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมายจะทำให้บุตรที่เกิดขึ้นนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น ผู้เป็นบิดาอาจไม่ต้องรับผิดชอบในการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้  หรือจะอธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ เมื่อคุณแม่ต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว (Single mom) ในกรณีที่พ่อและแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ลูกที่เกิดมาจะถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้เป็นแม่เพียงผู้เดียว และจะเป็นลูกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของพ่อ ฉะนั้น ผู้เป็นพ่อก็ไม่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมาย

         แต่ต่อมาถ้าแม่ต้องการให้พ่อจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ก็จะต้องดำเนินการให้พ่อดำเนินการรับรองให้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของพ่อเสียก่อน จึงจะมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าเลี้ยงดูบุตรได้

         ซึ่งในทางกฎหมายบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว เรียกว่า “บุตรนอกสมรส”  ซึ่งกฎหมายก็ได้กำหนดวิธีการที่จะเป็นทำให้บุตรนอกสมรสกลายเป็น “บุตรชอบด้วยกฎหมาย” ได้ ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังนี้

  1. บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร
  2. บิดามารดาสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมายภายหลัง
  3. ศาลพิพากษาว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา

         อย่างไรก็ดี กรณีตามข้อ 1.  บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร การจดทะเบียนรับรองบุตรจะต้องให้บิดาไปจดทะเบียนรับรองบุตรกับนายทะเบียนที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอในแต่ละจังหวัด โดยมารดาต้องให้ความยินยอม รวมทั้งเด็กต้องให้ความยินยอม แต่ถ้ากรณีที่เด็กยังเล็กมากและยังไม่สามารถพูดให้ความยินยอมได้อาจขอให้ศาลมีคำสั่งแทนคำยินยอมของเด็ก

         กรณีตามข้อ 2. บิดามารดาสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมายภายหลัง เด็กจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาโดยมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่เด็กเกิด

         กรณีตามข้อ 3. หลังจากที่ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็จะมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่เด็กเกิดเช่นกัน

         และนอกจากเนื่องจากทั้งสามกรณีนั้นแล้ว ยังมีกรณีอื่นๆที่มารดาสามารถนำมาใช้อ้างได้อีก ถ้าพบข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้ โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา

  • เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเราหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
  • เมื่อมีการลักพาตัวมารดาไปในทางชู้สาวหรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาที่หญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
  • เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรของตน
  • เมื่อปรากฏในทะเบียนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
  • เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาที่หญิงอาจตั้งครรภ์ได้
  • เมื่อมีเหตุใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น
  • เมื่อมีการแสดงออกที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร เช่น บิดาดูแลเรื่องการศึกษา ยินยอมให้เด็กใช้นามสกุลของตน

         สรุป หากมารดาต้องการจะฟ้องให้บิดาของเด็กนั้นจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ก็สามารถยื่นฟ้องบิดาต่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้ โดยให้ฟ้องมารวมกับการฟ้องให้บิดารับเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย ซึ่งการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลและค่าธรรมเนียม

สถิตย์ อินตา ทนายความ

083-5681148

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!