เอาขนมในร้านเซเว่นซุกซ่อนไว้ในเสื้อผ้า  แต่ยังไม่ได้ออกจากร้านจะมีความผิดลักทรัพย์หรือไม่ ?

Published by law_admin on

เอาขนมในร้านเซเว่นซุกซ่อนไว้ในเสื้อผ้า แต่ยังไม่ได้ออกจากร้านจะมีความผิดลักทรัพย์หรือไม่ ?
เอาขนมในร้านเซเว่นซุกซ่อนไว้ในเสื้อผ้า แต่ยังไม่ได้ออกจากร้านจะมีความผิดลักทรัพย์หรือไม่ ?

เอาขนมในร้านเซเว่นซุกซ่อนไว้ในเสื้อผ้า  แต่ยังไม่ได้ออกจากร้านจะมีความผิดลักทรัพย์หรือไม่ ?

          คำตอบ : คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6656/2551 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 91, 371 และริบอาวุธมีดของกลาง                                 

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง, 371 เป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้เรียงกระทงลงโทษ ฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธ จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 90 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 60 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่ถูก ไม่ปรับบทมาตรา 30) ริบอาวุธมีดของกลาง

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ เจ้าพนักงานจับกุมตัวจำเลยได้ในร้านค้าเซเว่นอีเลฟเว่น ปากซอยจอมทอง 11/1 แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร พร้อมยึดได้ทรัพย์ตามฟ้อง รวม 22 รายการ ราคารวม 1,015 บาท จากตัวจำเลย ซึ่งทรัพย์ดังกล่าวเป็นของบริษัทซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด ผู้เสียหาย

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ โจทก์มีนางสาววันเพ็ญและนางสาวสนิทเบิกความทำนองเดียวกันว่าพยานโจทก์ทั้งสองเป็นพนักงานของร้านที่เกิดเหตุ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2544 เวลาประมาณ 2.30 นาฬิกา ขณะพยานโจทก์ทั้งสองทำงานอยู่ในร้าน โดยยืนอยู่ที่เคาน์เตอร์เก็บเงิน จำเลยเดินเข้ามาในร้านแล้วเข้าไปหยิบฮอทดอก โดนัท และหมากฝรั่ง แล้วนำสินค้าดังกล่าวมาชำระเงินที่เคาน์เตอร์ จากนั้นจำเลยเดินดูสินค้าอื่น ๆ ภายในร้านต่อพยานโจทก์ทั้งสองเห็นจำเลยหยิบยางลบใส่ลงในกระเป๋ากางเกงด้านข้าง แล้วยังเดินวนเวียนดูสินค้าภายในร้านต่อไป นางสาวสนิทจึงโทรศัพท์แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจที่สถานีตำรวจบางมดทราบ ประมาณครึ่งชั่วโมงต่อมามีเจ้าพนักงานตำรวจมาที่ร้าน พยานโจทก์ทั้งสองบอกเจ้าพนักงานตำรวจให้ทำการตรวจค้นจำเลย เจ้าพนักงานตำรวจจึงให้จำเลยหยิบสินค้าที่ซุกซ่อนอยู่ในเสื้อ กางเกง และกระเป๋ากางเกงของจำเลยออกมา ปรากฏว่าจำเลยซุกซ่อนสินค้าไว้ทั้งหมดรวม 22 ชิ้น พร้อมหยิบมีดปลายแหลม 1 เล่ม ซึ่งเหน็บอยู่ที่ขอบกางเกงด้านหลังออกมาด้วย เจ้าพนักงานตำรวจจึงจับกุมจำเลย และโจทก์ยังมีจ่าสิบตำรวจตรีพิทักษ์เจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลบางมด เบิกความสนับสนุนว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุว่า มีเหตุลักทรัพย์เกิดขึ้นที่ร้านขายสินค้าเซเว่นอีเลฟเว่น ปากซอยจอมทอง 11/1 พยานจึงเดินทางไปยังร้านดังกล่าว พบจำเลยยืนอยู่หน้าร้านมีพนักงานหญิงของร้าน 2 คน ยืนคุมอยู่พนักงานทั้งสองของร้านได้ชี้ตัวจำเลยแล้วบอกว่าจำเลยพกมีด พยานจึงให้จำเลยเข้าไปในร้านแล้วบอกให้พนักงานทั้งสองทำการตรวจค้น แต่พนักงานดังกล่าวไม่กล้าตรวจค้น พยานจึงบอกให้จำเลยหยิบสิ่งของที่อยู่ในตัวออกมาแสดง จำเลยจึงหยิบเอาทรัพย์ตามบัญชีของกลาง ออกมาพร้อมอาวุธมีดปลายแหลม 1 เล่ม จึงแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า ลักทรัพย์ผู้อื่นในเวลากลางคืนและพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้านทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควร จำเลยให้การรับสารภาพ ดังนี้ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาดังกล่าวเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่า จำเลยซุกซ่อนทรัพย์ซึ่งเป็นสินค้าของร้านผู้เสียหายไว้ในเสื้อ กางเกง และกระเป๋ากางเกงของจำเลย ซึ่งจำเลยนำสืบแก้อ้างว่า ก่อนเกิดเหตุเวลาประมาณ 14 นาฬิกา จำเลยนั่งดื่มสุรากับเพื่อนอยู่ที่อาคารคอนโดมิเนียมของจำเลย ต่อมาช่วงเวลาเย็นได้พากันมาดื่มที่ร้านข้างนอกจนถึงเวลาเที่ยงคืนเศษ หลังจากนั้นจำเลยเข้าไปในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่เกิดเหตุเพื่อจะซื้อสินค้า ในการเลือกซื้อสินค้านั้นจำเลยไม่ใช้ตะกร้าของทางร้าน แต่เนื่องจากสินค้าที่เลือกซื้อมีจำนวนหลายรายการ จึงนำไปห่อไว้ในเสื้อขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้ามาในร้านและจะทำการจับกุมนั้น จำเลยยืนอยู่ที่หน้าเคาน์เตอร์เก็บเงินเตรียมที่จะชำระเงิน ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยมีเงินติดตัว 10,000 บาทเศษ และมีเครื่องประดับอาทิเช่น สร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนพลาย และแหวนทองคำ ในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจทำการจับกุม จำเลยมีอาการมึนเมาสุราอยู่ เห็นว่า การตรวจค้นได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายที่วางขายในร้านจำนวนถึง 22 รายการ ไม่ใช่อยู่ในวิสัยที่ผู้มาซื้อสินค้าจะนำไปห่อไว้ในเสื้อผ้าที่สวมใส่ ที่จำเลยอ้างว่าก่อนมาที่ร้านของผู้เสียหาย จำเลยดื่มสุรามามากจนมีอาการมึนเมาไม่รู้สำนึกและขาดสติก็เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ เพราะการหยิบทรัพย์สินที่วางขายจำนวนมากและหลากหลายชนิดไปซุกซ่อนไว้ในเสื้อผ้าของจำเลยย่อมไม่ใช่อากัปกิริยาของคนขาดสติ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยมีเงินติดตัวอยู่ประมาณ 10,000 บาท พร้อมที่จะชำระค่าสินค้านั้น

          เห็นว่า พฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ซุกซ่อนทรัพย์ซึ่งเป็นสินค้าที่วางขายไว้ในเสื้อผ้าในลักษณะกระจายหลายแห่งย่อมเป็นการปกปิดเพื่อไม่ให้ผู้อื่นเห็นทรัพย์ที่จำเลยเอาไปดังกล่าวและเป็นการกระทำที่ชี้ให้เห็นเจตนาว่าจำเลยประสงค์เอาทรัพย์ดังกล่าวไปโดยทุจริต และที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ เนื่องจากผู้เสียหายนำสินค้าซึ่งเป็นร้านเซเว่นอีเลฟเว่นนำสินค้ามาวางเพื่อจำหน่ายตามชั้น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวย่อมเป็นของผู้เสียหาย แต่เมื่อจำเลยเลือกและหยิบสินค้าออกมาตามต้องการแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวย่อมโอนมาเป็นของจำเลยทันทีเพราะเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 460 ประกอบด้วยมาตรา 195 วรรคสอง

          เห็นว่า หลักเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จำเลยกล่าวอ้างมานั้น เป็นหลักการพิจารณาเกี่ยวกับความรับผิดในทางแพ่งของสัญญาซื้อขายที่ได้มีการกระทำโดยสุจริต ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการพิจารณาความรับผิดในทางอาญา ดังเช่นกรณีนี้ เนื่องจากทรัพย์สินของผู้เสียหายที่วางไว้ในร้านของผู้เสียหายเพื่อจำหน่ายแก่ผู้มาซื้อ กรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในทรัพย์สินดังกล่าวย่อมเป็นของผู้เสียหาย แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเอาไปซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวด้วยวิธีการนำไปซุกซ่อนไว้ในเสื้อผ้าของจำเลยโดยมีเจตนาที่จะไม่ชำระราคาทรัพย์สินนั้น จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริตเพื่อได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายดังกล่าวไป การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมาต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”

          พิพากษายืน

          สรุป : แม้จะยังไม่นำสินค้า(ขนม) ออกจากร้าน แต่หากพฤติกาณ์แสดงออกถึงเจตนาทุจริตเพื่อให้ทรัพย์สินนั้นๆแล้ว ก็ถือว่าครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว

 


สถิตย์ อินตา ทนายความ

083-5681148

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!