ขอฟื้นคืนทะเบียนบริษัทเกิน 10 ปี ทำได้หรือไม่

Published by law_admin on

ขอฟื้นคืนทะเบียนบริษัทเกิน 10 ปี ทำได้หรือไม่
ขอฟื้นคืนทะเบียนบริษัทเกิน 10 ปี ทำได้หรือไม่

ขอฟื้นคืนทะเบียนบริษัทเกิน 10 ปี ทำได้หรือไม่

         การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งฟื้นคืนทะเบียน ภาษากฎหมายเรียกว่า “ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน” ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนได้ติดค้างทุกท่านไว้ตั้งแต่คราวก่อน วันนี้จะมาพูดคุยกันต่อให้จบ  การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัทฟื้นคืนทะเบียน นั้นจะใช้ได้ในกรณีที่นายทะเบียนขีดชื่อบริษัทนั้นออกจากทะเบียนเท่านั้น จะไปใช้ในกรณีที่บริษัทเลิกกันแล้วไม่ได้ ซึ่งการยื่นคำร้องขอต่อศาลประเภทนี้นั้น ต้องยื่นภายใน 10 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อบริษัท ออกจากทะเบียน

         ปัญหามีว่า ถ้าระยะเวลาการยื่นคำร้องล่วงเลยเกินกว่า 10 ปี แล้วจะทำอย่างไร และถ้าบริษัทมีทรัพย์สินเช่น มีที่ดิน อาคาร จะทำอย่างไร จะจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นๆอย่างไร ถึงจะนำทรัพย์สินนั้นๆไปจัดการแบ่งแก่ผู้ถือหุ้นได้ เรื่องนี้กฎหมายไม่ได้กำหนดทางออกไว้โดยตรงเราต้องเทียบเคียงกฎหมายที่มีอยู่เพื่อหาทางออก เราลองมาแชร์กันนะครับว่าหลักกฎหมายดังต่อไปนี้ พอจะเป็นทางออกได้หรือไม่

  1. การยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งฟื้นคืนทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/4 ผู้ยื่นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งโดยทั่วไปก็คือผู้ถือหุ้นนั่นเอง และต้องมีเหตุตามกฎหมายว่า ผู้มีส่วนได้เสียนั้นต้องเสียหายเพราะการที่บริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนนั้น ดังนั้นหากไม่เข้าเหตุเรื่องว่าเสียหายอย่างไรแล้ว ต่อให้ยื่นภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี ศาลก็สั่งให้ไม่ได้
  2. ระยะเวลา 10 ปี ในการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งฟื้นคืนทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1273/4 เป็นอายุความยื่นคำร้อง ดังนั้นหากไม่มีผู้ใดคัดค้านเรื่องอายุความ 10 ปีนี้ กรณีศาลจะนำอายุความมาพิจารณาเองเพื่อยกคำร้องไม่ได้ ก็หมายความว่า แม้จะยื่นคำร้องเกินกว่า 10 หากไม่มีใครคัดค้านเรื่องอายุความ 10 ปีนี้ ก็ยื่นได้ไม่ต้องห้าม แต่ก็มีความเห็นของนักกฎหมายบางท่านเห็นว่าระยะเวลา 10 ปีนี้เป็นระยะเวลาไม่ใช่อายุความ ดังนั้นหากยื่นเกินเวลาย่อมพ้นระยะเวลาที่จะยื่นได้ตามกฎหมายแม้จะไม่มีใครคัดค้านศาลก็สั่งให้ฟื้นคืนทะเบียนไม่ได้ ก็ว่ากันไปครับ แต่ผู้เขียนก็เห็นว่าน่าจะเป็นอายุความไม่ใช่ระยะเวลา เพราะระยะเวลาน่าจะกำหนดไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเมื่อกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งเกี่ยวกับสิทธิฟ้องคดีย่อมน่าจะเป็นอายุความ

         ปัญหาที่น่าคิดและน่าพิจารณาอีกประการต่อมาว่าถ้ามีบุคคลผู้มีส่วนได้เสียยกเรื่องอายุความ 10 ปีขึ้นมาเป็นเหตุให้ศาลยกคำร้อง แล้วจะจัดการกับทรัพย์สินและที่ดินในบริษัทอย่างไรนั้น จะทำอย่างไร ปัญหานี้ผู้เขียนเห็นว่า แม้ว่าบริษัทจำกัด จะสิ้นสภาพบุคคลตามกฎหมาย ทางกฎหมายถือว่าไม่มีบริษัทอยู่แล้วก็ตาม แต่สัญญาจัดตั้งบริษัท ก็คือเอกเทศสัญญาประเภทหนึ่งเมื่อสัญญาเลิกกันคู่สัญญาทุกฝ่ายย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิมผู้มีส่วนได้เสียย่อมขอให้ชำระบัญชีของบริษัทนั้นๆต่อไปได้เพื่อชำระสะสางทรัพย์สินของบริษัทให้เสร็จสิ้นไป  หรืออีกนัยหนึ่งผู้เขียนเห็นว่าสัญญาจัดตั้งบริษัทจำกัดก็ยังถือได้ว่าเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตามบททั่วไป ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1012 ที่กำหนดว่า “…อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น….” และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1013 ยังกำหนดว่า “….อันห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ท่านกำหนดเป็นสามประเภท คือ

         () ห้างหุ้นส่วนสามัญ

         () ห้างหุ้นส่วนจำกัด

         () บริษัทจำกัด….”

         ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่าแม้บริษัทแม้จะสิ้นสภาพบุคคลตามกฎหมาย ก็ยังคงต้องถือว่าเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญอยู่นั่นเอง ดังนั้น ย่อมสามารถฟ้องขอให้เลิกห้างฯ และ ชำระบัญชีต่อไปได้

         ท้ายที่สุดผู้เขียนเห็นว่า กฎหมายย่อมมีทางออกให้กับทุกปัญหา เพราะกฎหมายถูกกำหนดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคม เมื่อกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้แล้ว หากกฎหมายไม่สามารถมีทางออกให้ได้ ก็น่าจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักกฎหมาย หรือว่าทุกท่านเห็นว่ายังไง ถ้าท่านใดเห็นต่างจากนี้ล่ะก็ ช่วยแชร์ให้ทราบหน่อยนะครับ สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ

โดย ทนายนำชัย พรมทา 086-3314759

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!