การประชุมผู้ถือหุ้นที่ผิดระเบียบ กับ ประชุมที่ผิดกฎหมาย ต่างกันอย่างไร

Published by law_admin on

การประชุมผู้ถือหุ้นที่ผิดระเบียบ กับ ประชุมที่ผิดกฎหมาย ต่างกันอย่างไร ?

การประชุมผู้ถือหุ้นที่ผิดระเบียบ กับ ประชุมที่ผิดกฎหมาย ต่างกันอย่างไร ?

การประชุมผู้ถือหุ้นที่ผิดระเบียบ กับ ประชุมที่ผิดกฎหมาย ต่างกันอย่างไร ?

         วันนี้ผมทนายสถิตย์ อินตา ได้รับสายโทรศัพท์ปรึกษาแต่เช้าตรู่ ว่าเรียนท่านทนายสถิต ผมมีเรื่องจะปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่ผิดระเบียบ ?

        “…เท่าที่ผมเคยอ่านบทความของท่านทนายสถิตย์ และไปอ่านประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1195 ที่กำหนดว่าถ้าจะร้องต่อศาลเพื่อขอเพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่ผิดระเบียบนั้น ต้องร้องภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่มีการประชุม คือ เรื่องมีอยู่ว่าผมเปิดบริษัทกับญาติๆ มาหลายปีแล้ว ในการจัดการบริษัท ผมให้ญาติเป็นคนบริหารและส่วนกรรมการนั้นเป็นร่วมกัน แต่ตอนลงหุ้นผมเอาที่ดินของผมลงเป็นหุ้นส่วนมีมูลค่าหุ้นเท่าเท่ากัน บริษัทเปิดดำเนินกิจการมาหลายปี ผมไม่เคยได้รับเงินปันผลเลยมีเพียงได้รับค่าตอบแทนกรรมการบ้างในบางเดือนซึ่งตามข้อตกลง ผมต้องได้ค่าตอบแทนกรรมการเดือนละ 50,000 บาท ทุกเดือน แต่ญาติผมจ่ายเงินเดือนกรรมการให้ผมเพียงบางเดือนโดยอ้างว่า กิจการไม่ค่อยดี ปัจจุบันยังค้างเงินเดือนกรรมการผมอยู่ 6 – 7 เดือนแล้ว แต่ผมเห็นเขาได้เงินเดือนทุกเดือน มีรถประจำตำแหน่ง 2 คัน ผมเลยสงสัยว่าความจริงบริษัทมีกำไรแต่เขาไม่ยอมแบ่งผม ผมเลยไปขอคุยกับเขาแบบตรงๆ เขาก็บอกว่าบริษัทไม่มีกำไร แต่ผมก็ยังไม่เชื่อ เลยทะเลาะกัน ต่อมาเขาทำเอกสารการประชุม ปลดผมออกจากการเป็นกรรมการ ทั้งที่ผมไม่ได้เข้าร่วมประชุม แต่ผมไปตรวจดูเอกสาร แล้วเขาบอกว่ามีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 3 คนนั่นก็หมายความว่าต้องมีผมด้วย เพราะผู้ถือหุ้นของบริษัทมีทั้งหมด 3 คน ผมตรวจสอบทราบจากเอกสารที่เขานำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท ผมไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวแจ้งให้เข้าประชุม ผมเลยไม่ทราบว่าเขาจัดประชุมกันขึ้นเมื่อใด ที่ไหน ตอนนี้ก็ล่วงเลยระยะ 1 เดือนที่ผมจะขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมที่ผิดระเบียบนั้นแล้วผมควรจะต้องทำอย่างไรดีครับ ปัญหาของผมพอที่จะมีทางออกหรือเปล่าครับ ?…”

 

         คำตอบ   ขอตอบคำถามท่านดังนี้

  • กรณีการเพิกถอนการประชุมที่ผิดระเบียบนั้น จะต้องเป็นการประชุมที่กระทำไปโดยฝ่าฝืนข้อบังคับหรือฝ่าฝืนกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ เพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นการประชุมไปโดยฝ่าฝืนกฎหมายที่เคร่งครัด เช่น เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่มีโทษทางอาญาแล้ว ไม่ใช่การประชุมที่ผิดระเบียบ แต่เป็นการประชุมที่ผิดกฎหมาย การเพิกถอนมติการประชุมจึงไม่อยู่ในระยะเวลา 1 เดือนนับแต่วันประชุม กรณีของท่านกรรมการไม่ส่งหนังสือบอกกล่าวการประชุมให้กับท่าน ซึ่งตาม พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 17 กำหนดให้มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท จึงถือว่าการไม่แจ้งการบอกกล่าวนี้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่มีโทษทางอาญา ดังนั้นการไม่บอกกล่าวแจ้งการประชุมไปยังผู้ถือหุ้นจึงไม่อยู่ในระยะเวลา 1 เดือน ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ
    • เป็นการประชุมไปโดยฝ่าฝืนกฎหมายที่เคร่งครัด จึงไม่ใช่เรื่องที่ประชุมผิดระเบียบ
    • การประชุมผู้ถือหุ้นที่ไม่แจ้งผู้ถือหุ้น ย่อมไม่อยู่ในวิสัยที่ผู้ถือหุ้นจะทราบว่ามีการประชุมขึ้นที่ไหนเมื่อใด ครั้นจะต้องเพิกถอนภายในกำหนด 1 เดือนนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้โดยสภาพ
  • การไม่ได้จัดให้มีการประชุม แต่ไปจัดทำเอกสารว่ามีการประชุม อันนี้เป็นการประชุมเท็จไม่ใช่ประชุมผิดระเบียบที่จะต้องร้องขอเพิกถอน ผู้ที่รับรองรายงานการประชุมนั้น หากเป็นกรรมการเป็นผู้กระทำ กรณีถือว่าเป็นความผิดฐานลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัท ตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และ กรณีของท่านมีการนำความเท็จนั้นไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทด้วย ย่อมเป็นความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267 และ 268 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี

         ท่านสามารถเอาผิดกับกรรมการได้หากเข้ากรณีดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวมาข้างต้น

.

โดย ทนายสถิตย์ อินตา

083 -5681148

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!