#ผู้จัดการมรดก ใส่ชื่อตนเองในโฉนดที่ดินแต่เพียงผู้เดียว เเล้วนำที่ดินไปขายให้แก่บุคคลภายนอก ปัญหาว่าทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกจะฟ้องเพิกถอนได้หรือไม่…?

Published by lawyer_admin on

#ผู้จัดการมรดก ใส่ชื่อตนเองในโฉนดที่ดินแต่เพียงผู้เดียว เเล้วนำที่ดินไปขายให้แก่บุคคลภายนอก ปัญหาว่าทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกจะฟ้องเพิกถอนได้หรือไม่...?

#ผู้จัดการมรดก ใส่ชื่อตนเองในโฉนดที่ดินแต่เพียงผู้เดียว เเล้วนำที่ดินไปขายให้แก่บุคคลภายนอก  ปัญหาว่าทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกจะฟ้องเพิกถอนได้หรือไม่…?

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า เมื่อมีการตายเกิดขึ้น หากผู้ตายมีทรัพย์มรดก  ทายาทจะต้องยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกเสียก่อน  เมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกเเล้ว  บุคคลนั้นจะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์ให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิต่อไป

แต่หากผู้จัดการมรดกไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท กลับใส่ชื่อตนในโฉนดที่ดินแต่เพียงผู้เดียว แล้วโอนขายให้กับบุคคลภายนอก ปัญหาว่าทายาทผู้มีสิทธิจะฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการขายได้หรือไม่  ซึ่งข้อเท็จจริงลักษณะนี้เกิดเป็นคดีขึ้นสู่ศาล และเป็นปัญหาในการตีความ และตัดสินคดีของศาลเป็นจำนวนมาก โดยเราจะเเยกพิจารณาดังต่อไปนี้

#กรณีที่หนึ่ง  บุคคลภายนอกรับซื้อที่ดินจากผู้จัดการมรดกไว้โดยไม่สุจริต กรณีเช่นนี้ทายาทคนใดคนหนึ่งสามารถฟ้องเพิกถอนการโอนขาย เพื่อให้ทรัพย์กลับเข้าสู่กองมรดก เเละเเบ่งปันให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิต่อไปได้

#กรณีที่สอง  บุคคลภายนอกที่รับซื้อที่ดินจากผู้จัดการมรดกไว้โดยสุจริต  กรณีเช่นนี้กฎหมายคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริต กล่าวคือ ทายาทคนอื่นไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนการโอนขายที่ดินระหว่างผู้จัดการมรดกกับบุคคลภายนอกได้  แต่ก็ยังมีช่องที่กฎหมายรับรองคุ้มครองให้ โดยทายาทที่เสียหายจากการกระทำของผู้จัดการมรดก ก็สามารถดำเนินการฟ้องร้องเอาในส่วนนั้นได้ ซึ่งมีคำพิพากษาฎีกาที่ยืนยันหลักนี้ไว้ คือ  ฎีกาที่ 2715/2562,15759/2557 ,538/2540

#หมายเหตุ : ข้อที่ทำให้นักศึกษาที่กำลังเตรียมสอบสับสน คือ เนื่องจากมีคำพิพากษาฎีกาที่ 1971/2551 ได้วินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. จึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคน และมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ไปขายให้แก่ผู้ใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ การที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์คืน จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน”

#จากคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว หากอ่านไม่ละเอียดพออาจจะทำให้เข้าใจสับสนได้ว่า ศาลฎีกาตัดสินไม่ตรงตามหลักตามแนว  ซึ่งความจริงแล้ว หากไปดูฎีกาเต็ม จะเห็นได้ว่าฎีกาที่ 1971/2551 มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในคดีว่า ทรัพย์พิพาทในคดีได้มีการตกลงแบ่งที่ดินให้เป็นของโจทก์แล้ว จำเลยผู้จัดการมรดกจึงเป็นเพียงผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์เท่านั้น  จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะนำที่ดินของโจทก์ไปขายให้แก่บุคคลภายนอก แม้บุคคลภายนอกจะรับซื้อไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ก็เป็นเพียงแต่การรับซื้อไว้จากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะขาย บุคคลภายนอกจึงไม่ได้รับความคุ้มครอง ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ดังนั้น ผลของคำพิพากษาศาล ฎีกาที่ 1971 / 2551 จึงออกมาในลักษณะที่ว่า โจทก์สามารถฟ้องติดตามเอาทรัพย์คืนได้  ดังนั้น ผลตามฎีกาที่ 1971/2551 ที่ศาลฎีกาออกหลักมาดังกล่าวจึงมิได้ขัดแย้งกันกับคำพิพากษาศาลฎีกาอื่นแต่อย่างใด.

#สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
Contact Us
ทนายนำชัย พรมทา โทร : 086-331-4759  
ทนายสถิตย์ อินตา โทร : 083-568-1148

ติดตามข่าวสารของเราได้ทาง
Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com/

อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
📧E-mail : numchailaw.office@gmail.com
.

แชร์หน้านี้ !!