คลินิกคดีแรงงาน

108 คดีแรงงาน จำนวน 2 ตอน

 

ตอนที่ 1 เลิกจ้างเพราะกิจการขาดทุน ทำไมศาลถึงบอกว่าเป็นเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิด นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามอายุการทำงาน พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 แต่ก็มีหลายๆครั้งที่นายจ้างมีความประสงค์ที่จะอยากจะลดพนักงานลดค่าใช้จ่าย ก็ยอมเลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชย แต่พอจ่ายไปแล้ว ลูกจ้างก็ไปฟ้องศาลแรงงานเพื่อเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 49 อีกส่วนหนึ่งต่างหากจากค่าชดเชย ซึ่งหากเป็นการเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิดศาลแรงงานก็มักจะสั่งให้นายจ้างจ่ายเสียหายในส่วนนี้อีกส่วนหนึ่งต่างหากจากค่าชดเชย

นายจ้างก็ต้องมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรดีที่จะเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนนี้และก็คิดออกคือ

  • ให้ลูกจ้างเขียนใบลาออก เพราะการลาออกเป็นการที่ลูกจ้างบอกเลิกสัญญา ไม่ต้องจ่ายเงินอะไรเลยหรือ
  • เลิกจ้างเพราะเหตุกิจการขาดทุน เพราะตามแนวคำพิพากษาของศาลที่เคยตัดสินไว้แล้วว่าหากเลิกจ้างเพราะกิจการขาดทุน ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

ดังนั้น เหตุที่นายจ้างมักจะยกมาอ้างเมื่อเลิกจ้างเพื่อจะไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมที่เป็นที่นิยมชมชอบของเหล่าบรรดานายจ้างทั้งหลายนั่นคือเหตุ “เลิกจ้างเพราะกิจการขาดทุน”

แล้วการเลิกจ้างเพราะเหตุว่ากิจการขาดทุน ศาลจะตัดสินให้นายจ้างชนะคดีลูกจ้างทุกคดีหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” ครับ เพราะถ้าความจริงกิจการไม่ได้ขาดทุนจริงตามที่กล่าวอ้าง ศาลจะตัดสินว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมครับ และ ก็จะสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง  ดังนั้นหากนายจ้างท่านใดอยากจะเลิกจ้างลูกจ้างอย่างเป็นธรรม ก็ทำให้กิจการขาดทุนจริงๆนะครับ ลองมาศึกษาแนวคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไปนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3933/2546

แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้าง จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบ โดยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสอง วรรคสี่ ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 ซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงานอันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์รวมทั้งพนักงานอื่นเพื่อลดขนาดขององค์กรและลดค่าใช้จ่ายเนื่องจากจำเลยประสบกับการขาดทุนเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก็ตาม แต่ปรากฏว่าปี 2543 จำเลยมีกำไร และปี 2544 จำเลยได้ซื้อที่ดินราคา 9,000,000 บาทเศษ ด้วยเงินสดส่วนหนึ่งและเงินกู้ธนาคารอีกส่วนหนึ่ง แสดงว่าจำเลยมิได้ขาดทุนจนถึงขนาดต้องลดจำนวนลูกจ้าง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำความผิด กรณีจึงเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 276/2543 และ 1850/2547 วินิจฉัยในทำนองเดียวกัน

สรุปคือ “ถ้าขาดทุนไม่จริงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม”

 



 

ตอนที่ 2   หยุดกิจการชั่วคราว แต่ทำไมศาลบอกเป็นการเลิกจ้าง

การหยุดกิจการชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน  นับเป็นทางเลือกของกิจการที่นายจ้างจะลดภาระค่าใช้จ่ายในกรณีที่จำเป็นต้องหยุดกิจการเพราะกิจการประสบปัญหา

แต่ทำไมบางครั้งนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวแท้ๆ แต่เวลามีเรื่องขึ้นศาลๆท่านบอกว่า “ไอ้นี่มันเลิกจ้างนี่หว่า” ทำไมล่ะครับ ก็เพราะว่านายจ้างบางรายหัวหมอนี่ครับ อาศัยช่องว่างของกฎหมาย หยุดกิจการชั่วคราว แต่หลายชั่วคราว หรือชั่วคราวเฮือกใหญ่ไปนิดนึง ศาลท่านเลยตีความว่าเป็นการเลิกจ้าง ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง งานนี้ก็โดนไม่ใช่น้อยเลยนะครับ

ตัวอย่างที่ศาลเคยสั่งว่า นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว ถือเป็นการเลิกจ้าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2560/2529 “นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว โดยเหตุที่โรงงานไฟไหม้ เนื่องแต่เหตุสุดวิสัย ต่อมานายจ้างให้ลูกจ้างไปทำงานกับบริษัทอื่นซึ่งประกอบกิจการในทำนองเดียวกันแต่ลูกจ้างไม่ยอมไปทำ การที่นายจ้างปิดกิจการมาเป็นเวลาปีเศษและไม่แน่ว่าจะเปิดดำเนินการได้เมื่อใด พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้าง”

โดย ทนายนำชัย