การทำนิติกรรมของผู้เยาว์
ความสามารถในการทำนิติกรรม
ความสามารถในที่นี้เราหมายถึง ความสามารถในการทำนิติกรรมของ บุคคลธรรมดา
บุคคลธรรมดาสามารถมีสิทธิต่าง ๆ ซึ่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองให้มีได้ แต่การใช้สิทธิของบุคคลธรรมดาบางประเภทนั้นอาจจะใช้ได้ไม่เต็มตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การใช้สิทธิในการทำนิติกรรมต่างๆ หากเป็นบุคคลซึ่งด้อยสิทธิด้วยภาวะทางกฎหมายแห่งสภาพบุคคลของคนเหล่านั้นเขาก็ไม่อาจใช้สิทธิได้เต็มที่ เราเรียกคนเหล่านั้นว่า ผู้หย่อนความสามารถ กล่าวคือ ความสามารถในการทำนิติกรรมนั้นหย่อนไปไม่เต็มที่นั่นเอง ซึ่งคนเราจะไม่สามารถใช้สิทธิได้เต็มที่เนื่องมาจาก
- สภาพธรรมชาติ เช่น เด็กไร้เดียงสา
- โดยกฎหมายจำกัดอำนาจ เช่น ผู้เยาว์ คนวิกลจริต คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ (เหล่านี้เรียกว่าผู้หย่อนความสามารถทั้งสิ้น)
เหตุที่กฎหมายต้องจำกัดอำนาจบุคคลเช่นนั้นเนื่องจากบุคคลผู้หย่อนความสามารถนั้นไม่อาจใช้สามัญสำนึกเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนเองได้ตามมาตรฐานของบุคคลทั่วไป กฎหมายเกรงว่าบุคคลเหล่านั้นจะถูกผู้อื่นเอาเปรียบหรือทำการอย่างใดให้ตนเองเสียเปรียบบุคคลอื่นได้นั่นเอง
ผู้เยาว์คือใคร
บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์
ผู้เยาว์ คือ ผู้ซึ่งมีสภาวะแห่งชีวิตสมบูรณ์เป็นบุคคลแล้วสภาวะบุคคลนั้นดำเนินมาจนครบ 20 ปี
อีกกรณีหนึ่ง คือ ผู้เยาว์ซึ่งอายุไม่ครบ 20 ปี ได้ทำการสมรสและการสมรสนั้นเป็นการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ การสมรสจะเริ่มกระทำได้โดยถือว่าชอบด้วยกฎหมายคืออายุ 17 ปี บริบูรณ์แล้วเท่านั้น โดยต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือผู้ปกครองก่อน ซึ่งให้นำความในมาตรา 1436 มาใช้โดยอนุโลม หากผู้เยาว์ต้องการสมรสแต่อายุยังไม่ถึง 17 ปี แม้ผู้แทนฯ จะให้การอนุญาตก็ไม่อาจสมรสได้ ต้องร้องขอต่อศาลแต่เพียงประการเดียว โดยศาลจะพิจารณาถึงความจำเป็น เช่น ญ กำลังมีครรภ์ ศาลจึงจะอนุญาตให้สมรสได้ เมื่อมีการสมรสที่ชอบแล้ว ช และ ญ นั้นก็จะพ้นจากภาวะความเป็นผู้เยาว์ทันทีสามารถทำนิติกรรมได้ตามปกติ เหตุที่กฎหมายต้องกำหนดเช่นนี้ เพราะว่า ช ญ ที่สมรสแล้วต้องดูแลครอบครัวตนต่อไป จึงต้องมีความเป็นผู้ใหญ่ในทางกฎหมาย เช่น หากชายอายุ 16 ปี แต่มีบุตร เมื่อศาลอนุญาตให้สมรสเขาจะบรรลุนิติภาวะ สามารถทำนิติกรรมต่าง ๆ เช่น ต้องการจะยกที่ดินของตนเองให้แก่บุตรของตน หากกฎหมายไม่ให้เขาบรรลุนิติภาวะแล้วเขาไม่อาจกระทำได้ หรือการส่งลูกตนเข้าโรงเรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายเกินฐานานุรูปก็ไม่อาจกระทำได้ กฎหมายจึงต้องให้เขาบรรลุนิติภาวะเสีย
การทำนิติกรรมของผู้เยาว์
ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อนการใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน ผู้แทนฯ หมายถึง ผู้ซึ่งอาจให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ได้ เช่น บิดามารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร หรือ บุคคลอื่นซึ่งถูกตั้งขึ้นมาเพื่อปกครองผู้เยาว์การใด (นิติกรรม) ที่ผู้เยาว์กระทำลงไปโดยลำพังไม่ได้ขอความยินยอมจากผู้แทนฯ การนั้นจะเป็นโมฆียะ คำว่า“โมฆียะ” หมายความว่า ไม่บริบูรณ์ อาจให้สัตยาบรรณหรืออาจบอกล้างได้ กล่าวคือสมบูรณ์อยู่จนกว่าจะถูกบอกล้าง
โดย ทนายสถิตย์ อินตา
083-568-1148