ทุนจดทะเบียนบริษัท (จำกัด) เท่าไหร่ดี?
Published by law_admin on
สำหรับเจ้าของกิจการที่กำลังมีความคิดจะจดทะเบียนบริษัท เชื่อว่าหลายท่านคงหาข้อมูลในส่วนต่างๆมาบ้างแล้ว วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจอีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญในขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท นั่นก็คือ “ทุนจดทะเบียนบริษัท” นั่นเอง เชื่อว่าคงจะมีเจ้าของกิจการจำนวนไม่น้อยที่มีคำถามผุดขึ้นมามากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เรามาดูกันดีกว่าว่าทุนจดทะเบียนบริษัทคืออะไร? และทุนจดทะเบียนบริษัทควรจะเป็นเท่าไหร่? ถึงจะเหมาะสมกับธุรกิจของเรา
ทุนจดทะเบียนบริษัท คือ
จำนวนเงินที่ผู้เริ่มก่อการตกลงกันว่าจะใช้เงินลงทุนในการแจ้งจดทะเบียนบริษัท กับทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และจำนวนทุนจดทะเบียนบริษัทจะปรากฏอยู่บนหนังสือรับรองบริษัทของเรา ตามกฎหมายระบุไว้ว่า ผู้เริ่มก่อการ หรือในที่นี้คือผู้ร่วมทุน จะต้องมีอย่างน้อย 3 คนขึ้นไป ซึ่งทุนจดทะเบียนจะถูกแบ่งออกเป็นหุ้น หุ้นละเท่าๆกัน และ มูลค่าของหุ้นนั้น กฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 5 บาท
ทุนจดทะเบียนสำคัญอย่างไร?
นอกจากจะต้องจดไปตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ทุนจดทะเบียนบริษัทยังมีผลกับความน่าเชื่อถือในการรับงานของบริษัทอีกด้วย การรับงานใน scale ใหญ่ๆ การจ้างบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนสูง จะช่วยให้ผู้ว่าจ้างอุ่นใจกว่าการจ้างบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนน้อยๆ เพราะหากเกิดปัญหาถึงขั้นต้องฟ้องร้องและต้องมีการชดใช้ค่าเสียหายเกิดขึ้น บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนมากกว่าก็จะสามารถชดใช้ค่าเสียหายได้มากกว่าบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนน้อยกว่านั่นเอง
ทุนจดทะเบียนบริษัทเท่าไหร่ดี?
สำหรับทุนจดทะเบียนบริษัทที่คนส่วนใหญ่จะนิยมจดทะเบียนจะอยู่ที่ 1 ล้านบาท เหตุผลที่คนส่วนใหญ่นิยมจดทะเบียนบริษัทด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เป็นเพราะอัตราค่าธรรมเนียมนั่นเอง…แต่จะจ่ายจริงหรือไม่นั้นอีกเรื่องนึง ซึ่งผมไว้มาเล่าให้ฟังในบทความหน้าแล้วกันครับ แต่ไม่ว่าจะจดทะเบียนที่ทุนเท่าไรนั้น กฎหมายก็กำหนดให้มีการเสียค่าธรรมเนียมที่แจ้งจดทะเบียนเท่ากัน กล่าวคือ ไม่ว่าเราจะจดทะเบียนบริษัทด้วยทุน 1 ล้านบาท หรือ 1 แสนบาท ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 5,000 บาทนั้นเอง
หากมีเงินไม่ถึงล้าน แจ้งจดทะเบียนบริษัท 1 ล้านบาทได้ไหม?
หลายคนคงจะมีคำถามต่อไปว่า ถ้าหากเราจะแจ้งจดทะเบียนบริษัทด้วยทุน 1 ล้านบาท จำเป็นต้องมีเงินสด 1 ล้านบาทเลยหรือไม่ จริงๆแล้วตามกฎหมายได้ระบุไว้ว่า เราสามารถชำระค่าหุ้นเพียง 25% ของทุนจดทะเบียนบริษัทได้ นั่นหมายความว่า ถ้าเราจะจดทะเบียนบริษัทด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เราสามารถชำระค่าหุ้นขั้นต่ำที่ 250,000 บาทได้ และมูลค่าหุ้นที่เหลือจะต้องถูกเรียกชำระในเวลาต่อมา
แต่ก็มีหลายๆท่านที่แจ้งว่าชำระค่าหุ้นครบถ้วนเต็มมูลค่าก็มี โดยให้นักบัญชีบันทึกในงบการเงินว่าเงินบ้างส่วนที่ไม่ได้ชำระนั้น กรรมการได้กู้ยืมเงินออกไป ดังที่ผมจะกล่าวในลำดับถัดไป……จุดนี้แหละครับที่ผมมั้งจะฟ้องเจ้าของบริษัทตัวดีเข้าคุกมาหลายคนแล้ว
ข้อควรระวังเมื่อแจ้งทุนจดทะเบียนบริษัท
ข้อควรระวังที่หลายๆคนมองข้ามไปเกี่ยวกับทุนจะเบียนบริษัท คือ ในขั้นตอนการแจ้งจดทะเบียน จะต้องแจ้งจำนวนเงินที่ชำระค่าหุ้นแล้วกับทางกรมพัฒนาธุรกิจตามจริง หากมีการชำระค่าหุ้นตามเปอร์เซ็นต์ขั้นต่ำ 25 เปอร์เซ็นต์ เราก็ควรแจ้งไปว่า ชำระแล้ว 250,000 บาท ไม่ใช่ 1 ล้านบาท เพราะหากเราแจ้งว่าชำระครบ 1 ล้านบาทแล้ว ผลที่ตามมาคือ เมื่อกรมสรรพากรเข้าไปตรวจสอบ และพบว่ามีเงินในบัญชีบริษัทเพียง 250,000 บาท และยังขาดอีก 750,000 บาท เราจะต้องชี้แจงกับผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับเงินจำนวนที่ขาดไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเรามักจะตอบว่า “เงินอยู่ที่กรรมการบริษัท” เงินส่วนที่ขาดไปนี้จึงถือเป็นเงินที่กรรมการบริษัทได้ยืมไป แปลว่ามีการกู้ยืมเงินจากบริษัทหรือเกิดลูกหนี้ขึ้น นั่นหมายความว่าจะต้องมีการเก็บดอกเบี้ยจากการ กู้-ยืม นั้น และเมื่อถึงสิ้นปีการจ่ายภาษีของบริษัท ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมจะต้องถูกนำไปรวมเป็นรายได้ทางหนึ่งของบริษัทด้วย….แต่ในทางปฎิบัติ 90% ทำผิดทั้งนั้น
ทุนจดทะเบียนมีผลอย่างไรต่อการเสียภาษีหรือไม่?
สำหรับเรื่องอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนบริษัทที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกิน 30 ล้านบาท จะต้องเสียภาษี
โดยนำกำไรสุทธิมาคำนวณภาษีดังนี้
» กำไรสุทธิ ไม่เกิน 300,000 บาท ได้รับยกเว้น
» กำไรสุทธิเกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3,000,000 บาท เสียภาษีในอัตราร้อยละ 15
» กำไรสุทธิเกิน 3,000,000 บาท ขึ้นไป เสียภาษีในอัตราร้อยละ 20
กรณีที่ 2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนบริษัทที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีมากกว่า 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชี มากกว่า 30 ล้านบาท ให้คำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ
จะเห็นได้ว่า การจดทะเบียนบริษัทด้วยทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นผลประโยชน์ต่อตัวบริษัทเองในเรื่องอัตราการเสียภาษีในช่วงกำไรสุทธิไม่เกิน 3 ล้านบาทแรก นี่จึงเป็นอีกปัจจัยในการช่วยให้เราเลือกตัดสินใจเรื่องทุนในการจดทะเบียนบริษัทได้อีกทาง
ดังนั้น คำตอบของคำถามที่ว่า “ทุนจดทะเบียนบริษัท (จำกัด) เท่าไหร่ดี?” จึงไม่มีคำตอบที่ตายตัว เพราะการให้ความสำคัญกับปัจจัยต่างๆของแต่ละคนไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความน่าเชื่อถือของบริษัท, อัตราค่าธรรมเนียม, ความสามารถในการชำระค่าหุ้น หรือ จำนวนเงินที่บริษัทมีอยู่จริง แต่สิ่งที่ควรทำก็คือ ไม่ว่าคุณจะแจ้งจดทะเบียนด้วยทุนบริษัทเท่าไหร่ ควรเรียกชำระค่าหุ้นตามจริงเพื่อป้องกันความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
แชร์หน้านี้ !!