กรรมการบริษัทตัวจริงตัวปลอม
คลินิกกรรมการบริษัท
กรรมการบริษัทตัวจริงตัวปลอม
ท่านทั้งหลายครับ วันนี้ผมจะนำเรื่องจริงที่เกิดจากคดีจริงมาเล่าสู่กันฟังครับ ปัญหาที่มักพบในการร่วมก่อตั้งบริษัท (ขนาดเล็กหรือขนาดกลาง) โดยเฉพาะเป็นธุรกิจในครอบครัวแล้ว มักจะทำไม่ถูกต้องตามที่กำหนดหมายกำหนด เรื่องมีอยู่ว่า โจทก์และจำเลยเป็นพี่น้องกัน ร่วมกันลงทุนกันทำบริษัท ไปทั้งสิ้น 1,000,000 บาท แต่คนพี่ถือหุ้นเพียง 20 % คนน้องถือหุ้น 80 % จะเพราะตกลงกันยังไงก็ไม่ทราบ ให้มีชื่อเป็นกรรมการบริหารร่วมกันเพื่อตรวจสอบกิจการได้ แต่คนน้องเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามแต่เพียงผู้เดียว และ มีกรรมการบุคคลภายนอกอีกหนึ่งคน รวมเป็นกรรมการสามคน (คนพี่เป็นกรรมการไม่มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท) วันดีคืนดีพี่น้องสองคนนี้มีเหตุทะเลาะกันอย่างรุนแรง คนน้องเห็นว่าตนเองเป็นกรรมการ และ เป็นผู้ถือหุ้นเสียงข้างมาก คิดว่าจะทำอะไรก็ได้ จัดทำเอกสารการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมการโดยคัดชื่อพี่ออกจากการเป็นกรรมการ โดยไปจดทะเบียนที่สำนักงานทะเบียน และ แก้ไขข้อมูลในสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยเอาหมายเลขหุ้นของพี่สาวมาไว้ในชื่อของตนเอง แล้วถ้าเป็นท่านๆคิดว่าทำแบบนี้ได้หรือไม่ แล้วเมื่อทำไปแล้วจะมีผลทางกฎหมายอย่างไร
วันนี้เราจะมาดูไปพร้อมๆกันครับ
- การแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท การแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการ ต้องกระทำโดยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นเท่านั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1151 หากไม่มีการประชุมเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือ แต่งตั้งกรรมการ แล้วกรรมการจัดทำเอกสารประกอบการจดทะเบียน และนำไปจดทะเบียน อีกทั้งหากบุคคลผู้ที่มีชื่อเป็นกรรมการที่ถูกถอดถอนนั้นไม่เคยทำหนังสือลาออกจากกรรมการ ก็เท่ากับเป็นการจัดทำเอกสารเท็จ รายงานการประชุมก็เท็จ ย่อมเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ , เป็นความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารมหาชน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งยังเป็นการกระทำลงข้อความเท็จ หรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชี หรือเอกสารของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และ มูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
- การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลในสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) บุคคลที่จะแก้ไขได้ก็คือกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท และต้องแก้ไขให้ตรงตามข้อความจริง หากไม่เคยโอนหุ้นให้แก่กันโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือตามข้อบังคับของบริษัท การแก้ไขข้อมูลดังกล่าวย่อมเป็นการลงข้อความเท็จ หรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชี หรือเอกสารของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และ มูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
- นอกจากนี้หากการกระทำทั้งหมดก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้น ก็สามารถฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 ได้อีกส่วนหนึ่งต่างหาก
อันว่ากรรมการนั้นแม้ว่าไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ แต่กรรมการของบริษัทย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดไว้ อย่างเช่น หน้าที่ในการเอื้อเฟื้อสอดส่องเกี่ยวกับกิจการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1168 หากกรรมการทำให้บริษัทเสียหาย กรรมการย่อมต้องรับผิดต่อบริษัทหรือผู้ถือหุ้นตามมาตรา 1169 ดังนั้นจะเห็นว่าแม้ว่าจะเป็นกรรมการตัวจริง (กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท) หรือ กรรมการตัวปลอม (กรรมการที่ไม่มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัท) ก็ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้นะครับ
ทนายนำชัย พรมทา
โทร. 086-331-4759
ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
โทรปรึกษา ฟรี!
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers
สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ