การไม่บอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นก็มีโอกาสติดคุก
คลินิกกรรมการบริษัท
การไม่บอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นก็มีโอกาสติดคุก
ท่านทั้งหลายครับ เกี่ยวกับการบริหารจัดการบริษัทจำกัด นั้น โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก หรือ บริษัท ขนาดกลาง บริษัทในครอบครัว การเรียกประชุมผู้ถือหุ้นโดยการส่งจดหมายบอกกล่าวนัดประชุม การประกาศหนังสือเพื่อนัดประชุม รวมทั้งการจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกันจริงๆ นั้น ร้อยละ 90 ทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด ซึ่งจะมีผลทางกฎหมายอย่างไรนั้น วันนี้ผมก็จะนำเรื่องจริงจากคดีจริงมาเล่าสู่กันฟังเช่นเคยครับ เรื่องมีอยู่ว่า บริษัทแห่งหนึ่งเป็นบริษัทของบุคคลในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพี่น้อง สะใภ้ ลูกเขย ลูกสาวต่างก็มีสัดส่วนในการถือครองหุ้นในบริษัท มากบ้างน้อยบ้างตามที่ได้มีการพูดคุยในหมู่ญาติพี่น้อง บริษัท ไม่เคยมีการส่งหนังสือนัดเรียกประชุมผู้ถือหุ้น ไม่เคยประกาศหนังสือพิมพ์เพื่อนัดประชุมผู้ถือหุ้น และ ก็ไม่เคยจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้น ที่ผ่านมาก็เพียงแต่พูดคุยกันและก็จัดทำรายงานการประชุมขึ้นและก็มีการลงนามกันเท่านั้นเอง บริษัทก็ดำเนินไปเรื่อยและก็มีผลประกอบการที่ดีมากแบบก้าวกระโดด พอมีผลประโยชน์มากขึ้น ผู้ถือหุ้นฝ่ายข้างมากก็เกิดความโลภ ไม่อยากจะแบ่งผลประโยชน์ให้กับคนอื่นเกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันเพื่อนัดประชุม และ ไม่ยอมบอกกล่าวแจ้งการประชุมผู้ถือหุ้นบางคนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับตน จัดทำรายงานการประชุมขึ้นมาว่าให้มีการจ่ายบำเหน็จกรรรมการ (ให้ตนเอง) เพิ่มขึ้นโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งความจริงไม่ได้มีการจัดประชุมกันจริงเพียงแต่จัดทำรายงานประชุมขึ้นมาและก็ให้ผู้ถือหุ้นฝ่ายข้างตนลงนามว่าได้เข้าประชุม
กรณีดังนี้ ท่านทั้งหลายทราบหรือไม่ว่า จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร
- ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1175 กำหนดว่า การบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นต้องกระทำ 2 อย่างคือลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่เป็นคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้กระทำการดังว่านั้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน
- ตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 17 กำหนดว่า บริษัทจำกัดใดไม่ลงพิมพ์โฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ไม่ส่งคำบอกกล่าวไปยังผู้ถือหุ้น หรือไม่ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากันในคำบอกกล่าวตามมาตรา 1175 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
- เมื่อการบอกกล่าวเรียกประชุมกระทำผิดกฎหมายโดยชัดแจ้งซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญา ดังนั้นสิ่งที่กระทำไปย่อมเป็นโมฆะ การประชุมดังกล่าวหากมีการจัดประชุมกันจริง ถือเป็นการประชุมที่ผิดกฎหมาย ผลของการประชุมย่อมเป็นโมฆะ
- อีกทั้งหากการจัดประชุมไม่ได้จัดกันจริงแล้ว กรณียอมเป็นโมฆะ ไม่จำเป็นต้องร้องขอเพิกถอนการประชุมนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1195 แต่อย่างใด
- การจัดทำรายงานการประชุมขึ้นโดยความจริงไม่มีการจัดประชุม หากกระทำเพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดเสียประโยชน์อันควรได้ ถือเป็นการลงข้อความเท็จ หรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชี หรือเอกสารของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และ มูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ (เพราะความจริงแล้วมันไม่มีมติ แล ไม่มีการประชุม แต่ไปแอบอ้างว่ามีมติ กรณีจึงเป็นเท็จ)
แม้ว่าจะเป็นบุคคลใกล้ชิด หรือ บุคคลในครอบครัว แต่การทำธุรกิจ การจัดการบริษัท ก็ต้องทำให้ถูกต้องนะครับ บุคคลในครอบครัว ทำให้บุคคลในครอบครัว ติดคุกมาหลายรายแล้วครับ
ทนายนำชัย พรมทา
โทร. 086-331-4759
ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
โทรปรึกษา ฟรี!
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers
สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ