บอกเลิกสัญญาแล้ว แม้ต่อมาเช็คเด้ง ผู้ออกเช็คก็ไม่มีความผิด
บอกเลิกสัญญาแล้ว แม้ต่อมาเช็คเด้ง ผู้ออกเช็คก็ไม่มีความผิด
คราวก่อนเราพูดถึงการสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมาย ว่าไม่เป็นความผิดตามพรบ.เช็คฯ วันนี้เราจะมาพูดถึงหลักกฎหมายอีกเรื่องหนึ่งที่ศาลท่านเคยวินิจฉัยว่าไม่เป็นความผิดตาม พรบ.เช็คฯเหมือนกัน นั่นก็คือการสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ตามสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้กันตามสัญญา เช่น สัญญาเช่า ยกตัวอย่าง นาย ก. ทำสัญญาเช่าที่ดินนาย ข. เป็นเวลา 3 ปี ตกลงจ่ายค่าเช่ากันเดือนละ 10,000 บาท และนาย ก. ได้สั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระค่าเช่าล่วงหน้าไป 3 ปี โดยเช็คแต่ละฉบับลงวันที่ทุกวันสิ้นเดือนของทุกเดือน ต่อมาสัญญาเช่าสิ้นสุดลงเพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาเช่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ฝ่ายนาย ก. ผู้เช่า ย่อมไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าต่อไป แม้ต่อมานาย ก. ไปสั่งให้ธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คในส่วนของค่าเช่าที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่สัญญาเช่าเลิกกันแล้ว นาย ก. ไม่มีความผิดตาม พรบ.เช็คฯ อย่างนี้เป็นต้นครับ สัญญาอื่นๆที่มีลักษณะเดียวกันก็ใช้หลักกฎหมายเดียวกันนี้ครับ
เทียบเคียงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 90/2521 เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาจึงเป็นอันระงับไปและคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ และ จำเลยเชื่อต่อไปว่าจะไม่มีผู้ใดนำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคาร จำเลยจึงไม่จำต้องนำเงินเข้าบัญชีในธนาคารให้มีจำนวนพอจ่ายตามเช็ค การกระทำของจำเลยไม่มีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คไม่เป็นความผิดทางอาญา
โดย ทนายสถิตย์ อินตา
083-568-1148