ออกเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้นอกระบบ ที่ดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ผู้ออกเช็คไม่มีความผิด

Published by law_admin on

Check Case Clinic

ออกเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้นอกระบบ ที่ดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ผู้ออกเช็คไม่มีความผิด

      ในสังคมปัจจุบัน มีเจ้าหนี้นอกระบบมากมาย ส่วนมากร้อยทั้งร้อยเจ้าหนี้นอกระบบคิดดอกเบี้ยเอากับลูกหนี้ผิดกฎหมาย เช่น ร้อยละ 5 ต่อเดือน หรือ ร้อยละ 10 ต่อเดือน บางรายโหดถึงขนาดร้อยละ 20 ต่อเดือนก็มี ครั้นพอถึงกำหนดชำระหนี้ลูกหนี้ก็ชำระหนี้ไม่ได้ (ชำระหนี้เงินต้นไม่ได้) เพราะที่ผ่านมาชำระหนี้ดอกเบี้ยมาอย่างเลือดตาแทบกระเด็น ชำระหนี้มาตั้งชาตินึงแล้วเงินต้นไม่ลดเลย มิหน้ำซ้ำ ยังให้ลูกหนี้เขียนเช็คสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้นั้นไว้ด้วย (แต่ตอนไปขอให้ลูกหนี้เขียนเช็ค บอกว่าเขียนเช็คเพื่อค้ำประกันหนี้) เพื่อจะใช้เช็คที่ลูกหนี้สั่งจ่ายไว้นั้นฟ้องคดีอาญา หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั่นเอง  ซึ่งตามความผิดในพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค กำหนดความผิดไว้จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับต่อเช็คหนึ่งฉบับ อย่างนี้ถ้าลูกหนี้ออกเช็คไว้ 10 ใบ ก็มีความผิดโทษจำคุก 10 ปี ก็นับว่าเป็นช่องทางในการบีบลูกหนี้ได้เป็นอย่างดีทีเดียว

     เมื่อเจ้าหนี้นำเช็คนั้นไปฟ้อง ทางออกของลูกหนี้ก็ได้แต่รับสารภาพที่ศาลแล้วผ่อนหนี้คืนให้เจ้าหนี้ ทั้งๆที่หนี้นั้นก็ผ่อนมาเยอะแล้วยังต้องมาผ่อนต่อ คราวนี้หนักกว่าเดิมเพราะเป็นการผ่อนโดยมีเงือนไขในคดีอาญา หากผิดนัดเมื่อใด ศาลจะอ่านคำพิพากษาและก็ต้องรับโทษทางอาญาไปนั่นเอง

     วันนี้มีทางออกใหม่ของลูกหนี้มาฝากกันครับ หากลูกหนี้ท่านใดกู้เงินกู้นอกระบบและมีการเรียกดอกเบี้ยผิดกฎหมายและเจ้าหนี้ได้ให้เขียนเช็คไว้เพื่อสั่งจ่ายหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเหล่านั้น ถ้าเจ้าหนี้นำเช็คนั้นไปฟ้องคดีอาญา ก็อย่าเพิ่งไปรับสารภาพ ให้สู้คดีไปครับ เพราะมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้เป็นแนวบรรทัดฐานว่า การสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ที่ผิดกฎหมาย (หนี้ดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมาย) รวมอยู่ด้วยนั้น ไม่ถือว่าเป็นความผิดตาม พรบ.เช็คฯ  เมื่อไม่เป็นความผิดตาม พรบ.เช็คฯ ผลก็คือ ลูกหนี้ไม่ต้องติดคุกเพราะการสั่งจ่ายเช็คนั้นนั่นเอง

     หวังว่าต่อไปเจ้าหนี้จะไม่สามารถนำเช็คเงินกู้นอกระบบที่ดอกเบี้ยผิดกฎหมายไปบีบลูกหนี้ในคดีอาญาได้อีกนะครับ

เทียบเคียงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5529/2539 การที่จำเลยออกเช็คชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ซึ่งจำนวนเงินส่วนหนึ่งเป็นการชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่มีผลบังคับได้ตามกฎหมายและจำนวนเงินอีกส่วนหนึ่งเป็นการชำระหนี้ในจำนวนเงินที่ต้องห้ามตามกฎหมายซึ่งไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายรวมอยู่ด้วยในเช็คฉบับเดียวกัน และไม่อาจแบ่งแยกกันได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

โดย ทนายสถิตย์ อินตา

083-568-1148

แชร์หน้านี้ !!