ลูกจ้างยื่นใบลาออกแล้ว หรือ นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างแล้วจะเปลี่ยนใจไม่ได้
ลูกจ้างยื่นใบลาออกแล้ว หรือ นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างแล้วจะเปลี่ยนใจไม่ได้
การเลิกจ้างก็ดี การลาออกก็ดี มักจะมีปัญหาทางปฏิบัติและหลายท่านสงสัยว่าการลาออกจะทำได้เมื่อใด และ มีผลเมื่อใด หรือ การเลิกจ้างจะกระทำเมื่อใด และมีผลอย่างไร ลาออกแล้วหรือเลิกจ้างแล้วจะยกเลิกการลาออกหรือยกเลิกการเลิกจ้างได้หรือไม่ วันนี้เรามาทำความเข้าใจกัน
การลาออกก็ดี การเลิกจ้างก็ดี เมื่อลูกจ้างได้ยื่นใบลาออกต่อนายจ้างแล้ว หรือ เมื่อนายจ้างได้บอกเลิกจ้างลูกจ้างแล้ว ภายหลังจะเปลี่ยนใจไม่ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 ซึ่งกำหนดว่า “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง” และ วรรคสองกำหนดว่า “แสดงเจตนาดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่”
เคยมีแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ที่ 6525/2544 วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานว่า สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาชนิดหนึ่ง เมื่อนายจ้างซึ่งเป็นคู่สัญญาแสดงเจตนาเลิกสัญญาแก่ลูกจ้างโดยการเลิกจ้างแล้ว สัญญาจ้างแรงงานย่อมสิ้นสุดลงทันที และ การแสดงเจตนาเลิกสัญญาหาอาจถอนได้ไม่
หมายเหตุ การลาออกก็ดี การเลิกจ้างก็ดี ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย ดังนั้นเมื่อลูกจ้างลาออกก็ไม่ต้องรอให้นายจ้างอนุมัติ การลาออกย่อมมีผลทันทีตามที่แสดงเจตนาลาออก เช่น ยื่นใบลาออกวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 โดยกำหนดในใบลาออกให้มีผลเป็นการลาออกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 อย่างนี้ถือว่าการลาออกมีผลในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 ไม่ใช่มีผลในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 อย่างนี้เป็นต้น และเมื่อได้แจ้งหรือยื่นใบลาออกไปแล้ว ต่อมาจะเปลี่ยนใจว่าไม่ออกแล้วอย่างนี้ไม่ได้ครับ (เว้นแต่นายจ้างจะยินยอมนะครับ) การที่นายจ้างกำหนดไว้ในสัญญาจ้างหรือในข้อบังคับหรือระเบียบว่าการลาออกต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อยกี่วันถึงจะมีผลนั้น ใช้บังคับไม่ได้ครับ เพราะการลาออกเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวของลูกจ้าง
By ทนายนำชัย