คดีเช็คเด้ง ตั๋วเงิน
คดีเช็คเด้ง ตั๋วเงิน
ธุรกิจการค้าในปัจจุบัน ล้วนนิยมชำระหนี้ด้วยเช็ค จะลงวันที่สั่งจ่าย หรือไม่ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ก็ได้ เมื่อผู้ทรงเช็คนำไปขึ้นเงินแล้วถูกธนาคารปฏิเสธ ที่เรียกกันว่า “เช็คเด้ง” ผู้ทรงเช็คก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายเอากับผู้สั่งจ่ายเช็ค กรณีที่เช็คเด้งแล้วเป็นความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ซึ่งมีโทษจำคุกนั้น มีหลักเกณฑ์ดังนี้
มาตรา 4 ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต
เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้นผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 60,000บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
สำหรับหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย หมายความว่า ต้องเป็นหนี้กันจริงๆ และหนี้นั้นต้องบังคับได้ตามกฎหมาย ถ้าไม่เป็นหนี้กันจริงๆหรือหนี้นั้นตามกฎหมายไม่สามารถฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ก็ไม่เป็นความผิดทางอาญา
“จ่ายเช็คเด้งนอกจากมีสิทธิติดคุกแล้ว ยังจะต้องรับผิดในทางแพ่งด้วย”
ธนาคารต้องใช้เงินตามเช็ค ซึ่งผู้เคยค้ากับธนาคาร(แบงค์อื่น)ได้ออกเบิกเงินแก่ตน เว้นแต่
1 ไม่มีเงินในบัญชีพอจะจ่ายเงินตามเช็ดนั้น
2 ยื่นเช็คให้เงินเกินกว่า 6 เดือน นับแต่วันออกเช็ค
3 มีคำบอกกล่าวว่าเช็คหายหรือถูกลักไป
ตัวอย่างที่น่าสนใจ กรณีออกเช็คแล้วไม่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ดังนี้
1 หนี้ที่เกิดจากการพนัน หรือ หนี้จากการกระทำที่ผิดกฎหมาย ถือว่าเป็นนิติกรรมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมเป็นโมฆะ คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2041/2533
2 หนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงิน แต่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ.มาตรา 653 หรือขณะออกเช็คยังไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือ แม้ภายหลังจะมีการทำขึ้น ก็ไม่อาจบังคับได้ คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 1519/2535 463/2552
3 สั่งจ่ายเช็คแลกเงินสด ซื้อขายลดเช็ค คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 1518/2535 378/2536
4 ออกเช็คชำระหนี้ซื้อขาย สังหาริมทรัพย์ กว่า 20,000 บาท ขึ้นไปไม่มีหลักฐาน คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 1795/2544
5 ออกเช็คเพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่คิดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ถือว่าไม่มีมูลหนี้ คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 364/2518 7633/2550
6 ในวันสั่งจ่ายเงิน มีเงินพอจ่าย แต่กลับนำเช็คไปขึ้นเงินวันหลัง คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 1875/2527
7 ออกเช็คเพื่อค้ำประกันหนี้ คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 12007/2553
8 ออกเช็ค โดยผู้ทรงทราบถึงฐานะการเงินว่าไม่มีความสามารถชำระเงินตามเช็คได้ คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 1213/2545
9 พ้นกำหนดการจ่ายเงิน คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 186/2535
10 นำเช็คเข้าบัญชีก่อนกำหนด คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 1261/2526
11 ฟ้องคดีเช็คไม่ลงวันที่ แม้จะตกลงกำหนดวันไว้ต่อกัน ผู้ทรงเช็คลงตามต่อหน้า หรือกรณีผู้สั่งจ่ายมอบหมายบุคคลอื่นลง แม้จะลงชื่อกำกับไว้ ก็ไม่ผิด คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 7152/2554 8/2536
กรณีที่สั่งจ่ายเช็ค โดยไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายกระทำการโดยสุจริตชอบที่จะลงวันออกเช็คตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คได้ ตามมาตรา 901 ประกอบมาตรา 989 ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ปรากฎในเช็ค คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1214/2547 9539/2544 แต่ก็ไม่สามารถฟ้องเป็นคดีอาญาได้ คงต้องไปฟ้องร้องในทางคดีแพ่ง ข้อหาตั๋วเงิน
12 แก้วันที่สั่งจ่ายเช็คโดยผู้ออกเช็คไม่ได้ยินยอม คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3748/2532
13 เช็คไม่สมบูรณ์ขาดรายการตามที่กฎหมายบังคับ คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 1295/2546
14 ยอมรับเช็คที่บุคคลอื่นสั่งจ่ายแทนเช็คฉบับเดิมและได้มีการดำเนินคดีอาญาตามเช็คฉบับใหม่แล้ว
ตัวอย่างที่น่าสนใจ กรณีออกเช็คแล้วเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ดังนี้
1 ออกเช็คเพื่อชำระหนี้แทนบุคคลอื่น ผู้สั่งจ่ายย่อมมีความผิดทางอาญา คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 1130/2542
2 ออกเช็คฉบับใหม่ แลกฉบับเดิมที่ถูกธนาคารปฏิเสธการสั่งจ่าย ผู้สั่งจ่ายไม่มีความผิดทางอาญา คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3809/2530
3 ออกเช็คโดยในขณะที่ออกบัญชีปิดแล้ว
4 ออกเช็คใหม่แทนเช็คฉบับเดิมที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยมิได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีตามเช็คฉบับเดิม และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับใหม่อีก
การร้องทุกข์หรือฟ้องร้องดำเนินคดี
1 ต้องทำภายในกำหนดอายุความ กล่าวคือ สำหรับในคดีอาญานั้นต้องดำเนินการภายในกำหนด 3 เดือนนับจากวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค กล่าวคือ วันที่เช็คเด้ง
2 แต่อย่างไรก็ตามความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ เป็นความผิดที่สามารถยอมความได้ จึงสามารถเจรจายอมความกันได้ก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด กล่าวคือ แม้ศาลชั้นต้นตัดสินไปแล้ว แต่ถ้ายังอุทธรณ์ฎีกาอยู่ก็ยังสามารถยอมความกันได้
3 นอกจากนี้ ถ้าจำเลยนำเงินมาชำระหนี้ครบถ้วน หรือหนี้ตามเช็คนั้นสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ถือว่าคดีเป็นอันเลิกกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(3) คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 5865/2534 ก็ไม่ต้องติดคุก
การประกันตัว ในข้อหาหรือฐานความผิด พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2535
1 เมื่อศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว ในวันนัดสอบคำให้การจำเลย ต้องเตรียมเงินประกันตัวไว้ด้วย
2 วงเงินประกันตัวชั่วคราว อ้างอิงตาม บัญชีเกณฑ์มาตราฐานกลางหลักประกันการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย
วงเงินประกัน ไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนเงินตามเช็ค แต่ไม่ควรเกิน 200,000 บาท
3 ในคดีมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และจำเลยมีภูมิลำเนาเป็นหลักแหล่ง ประกอบกับโจทก์ไม่คัดค้าน ศาลจะมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยได้โดยไม่ต้องวางเงินประกันตัว
คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ
ประเด็น อายุความ 3 เดือน นับแต่วันรุ่งขึ้นที่เช็คเด้ง
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 920/2550
กฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการกำหนดนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาจึงอยู่ในบังคับของหลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ซึ่งกำหนดมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน จึงเริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น คดีนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับแรก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 การนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 และจะครบกำหนด 3 เดือน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุความวันสุดท้าย คดีโจทก์ตามเช็คฉบับแรกจึงไม่ขาดอายุความ
ประเด็น ไม่มีเจตนาออกเช็คเพื่อชำระหนี้ หรือในขณะออกเช็คผู้สั่งจ่ายไม่มีความสามารถในการจ่าย เป็นเพียงหลักประกันเท่านั้น ก็ไม่มีความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6581/2556
จำเลยออกเช็คให้ผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายรู้ดีว่าขณะที่ออกเช็คนั้น จำเลยไม่อาจชำระเงินตามเช็คได้ แต่จำเลยอยู่ในภาวะที่ต้องออกเช็คเพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้เสียหาย ในเวลาที่ผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยยังไม่มีเงินที่จะมาชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกับผู้เสียหายมีเจตนาใช้เช็คพิพาทเป็นการชำระหนี้
ประเด็น จงใจเขียนเช็คด้วยการลงลายมือชื่อไม่เหมือนกับตัวอย่างที่ให้ไว้แก่ธนาคาร ถือว่ามีเจตนาทุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5388/2556
จำเลยจงใจเขียนเช็คทั้งสองฉบับด้วยการลงลายมือชื่อในเช็คไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้แก่ธนาคาร และจงใจเขียนตัวเลขอารบิกให้แตกต่างกันอีก พฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีเงินในบัญชีของธนาคารดังกล่าวการกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1)
ประเด็น ไม่ลงวันที่สั่งจ่ายในขณะออกเช็ค ถือว่าไม่มีความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5924/2556
ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือฐานออกเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชีอันจะพึงจ่ายให้ได้นั้น สาระสำคัญอยู่ที่วันที่สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าเช็คพิพาทที่จำเลยออกไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ในขณะที่ออกเช็ค ย่อมถือว่าไม่มีวันที่จำเลยกระทำความผิด แม้ ป.พ.พ. มาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 จะให้สิทธิผู้ทรงเช็คไว้ว่า ถ้าเช็ครายการใดมิได้ลงวันออกเช็ค ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้นั้น กฎหมายเพียงแต่ให้เช็คฉบับนั้นเป็นเช็คที่มีรายการสมบูรณ์ตามกฎหมาย ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ในทางแพ่งเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 แม้โจทก์จะอ้าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 คลาดเคลื่อนไปเป็น พ.ศ.2497 ก็ตาม แต่มิใช่ข้อสำคัญที่จะทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง ประเด็น คดีเลิกกัน ***ผู้เสียหายพึงระวัง**
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534
มาตรา 7 ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคารภายใน 30 วันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5240/2553
ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่มีข้อความว่า จำเลยจะชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวนเต็มตามฟ้องโดยผ่อนชำระเป็นรายเดือนจนกว่าจะครบถ้วนให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี หากโจทก์ได้รับชำระครบถ้วนแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องคดีนั้น เป็นข้อตกลงในการผ่อนชำระหนี้ตามเช็คเท่านั้น และตามข้อตกลงดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไปแล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไปแต่อย่างใด เมื่อจำเลยมิได้ใช้เงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์ และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 คดีจึงไม่เลิกกัน สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2553
กรณีคดีอาญาเลิกกันตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 เป็นกรณีที่มูลหนี้ที่ผู้กระทำความผิดได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา โดยไม่จำเป็นที่โจทก์และจำเลยทั้งสองต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีอาญา
มูลหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชดใช้เงินเป็นคดีแพ่งของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดไปแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามมูลหนี้ในเช็คพิพาท เป็นอันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิจะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก ดังนั้น หนี้ที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินจึงเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39
ส่วนในคดีแพ่งนั้นก็ต้องฟ้องร้องภายในอายุความ ดังต่อไปนี้
1 ฟ้องผู้รับรองตั๋วแลกเงิน ผู้ออกสัญญาใช้เงิน มีกำหนด 3 ปีนับแต่วันตั๋วถึงกำหนด ป.พ.พ. มาตรา 1001
2 ฟ้องผู้สลักหลังและผู้สั่งจ่าย มีกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ตั๋วเงินถึงกำหนด ป.พ.พ. มาตรา 1002
3 ฟ้องไล่เบี้ยกันเอง และฟ้องไล่เบี้ยผู้สั่งจ่าย มีกำหนด 6 เดือน ป.พ.พ. มาตรา 1003
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 900 บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น ถ้าลงเพียงแต่เครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น แกงไดหรือลายพิมพ์นิ้วมืออ้างเอาเป็นลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นไซร้ แม้ถึงว่าจะมีพยานลงชื่อรับรองก็ตาม ท่านว่าหาให้ผลเป็น ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นไม่
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ
1 คดีเช็ค โดยทั่วไปแล้วทนายความมักจะแนะนำให้ฟ้องทั้งคดีอาญา และคดีแพ่งด้วย
2 ต้องฟ้องคดีภายใน 3 เดือนนับจากวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค กล่าวคือ วันที่เช็คเด้ง หากเกิน 3 เดือน ไม่ฟ้องร้อง ไม่แจ้งความร้องทุกข์ คดีอาญาขาดอายุความ แต่ยังคงเหลือคดีแพ่ง ฟ้องในข้อหาตั๋วเงิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 ซึ่งต้องฟ้องร้องภายใน 1 ปี ถ้าเกิน 1 ปีแล้ว ยังไม่ทำอะไรอีก พ้น 1 ปีแล้วคดีขาดอายุความ ฟ้องร้องไม่ได้ กลายเป็นว่าหนี้สินที่มีต่อกันหายหมด แต่ยังสามารถฟ้องตามมูลหนี้แท้จริง เช่น หนังสือรับสภาพหนี้ สัญญากู้ยืมเงิน เป็นต้น
3 ต้องดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อสถานีตำรวจที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน กล่าวคือ ธนาคารเจ้าของบัญชีเช็คฉบับนั้นตั้งอยู่ ไม่ใช่ธนาคารที่ไปขึ้นเงิน
4 ในการแจ้งความร้องทุกข์ต้องมีการสอบสวนผู้เสียหายและออกหมายเลขคดี โดยในการสอบสวนหรือคำร้องทุกข์นั้น ผู้เสียหายจะต้องยืนยันว่ามาร้องทุกข์เพื่อมีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
5 กรณีบริษัทเป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค คดีอาญาสามารถฟ้องได้ทั้งบริษัทเอง และตัวกรรมการผู้จัดการ ส่วนคดีแพ่งฟ้องได้เฉพาะบริษัท
6 คดีอาญา พ.ร.บ.เช็ค การตกลงชำระหนี้ โจทก์เรียกได้เพียงต้นเงิน ไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยได้ เนื่่องจากข้อตกลงดังกล่าวจะกลายเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล ทำให้คดีอาญาระงับ หากต้องการเรียกดอกเบี้ย โจทก์ต้องนำคดีไปฟ้องเป็นคดีแพ่ง
สถิตย์ อินตา ทนายความ
083-568-1148