บริษัทขายหุ้นเกินราคาพาร์ (พรีเมี่ยม)
บริษัทขายหุ้นเกินราคาพาร์ (พรีเมี่ยม)
หุ้นนั้นจะมีการกำหนดราคาพาร์ (par) โดยราคาพาร์นี้กฎหมายห้ามมิให้ต่ำกว่า 5 บาท และในการขายหุ้นของบริษัทนั้น บริษัทก็จะเสนอขายในราคาต่ำกว่าราคาพาร์ไม่ได้ เช่น หุ้นพาร์ 5 บาท จะขาย 3.50 บาท อย่างนี้ไม่ได้เพราะจะทำให้บริษัทมีเงินทุนค่าหุ้นต่ำกว่าจำนวนที่จดทะเบียนไว้ อันจะทำให้บุคคลภายนอกที่มาติดต่อกับบริษัทเสียเปรียบได้ ดังนั้น พาร์ 5 บาทต้องขาย 5 บาท ซึ่งต่างกับบริษัทมหาชนที่กฎหมายยอมให้ขายหุ้นราคาที่ต่ำกว่าราคาพาร์ได้ถ้าบริษัทขาดทุน
แต่ในทางตรงกันข้าม บริษัทขายหุ้นสูงกว่าราคาพาร์เท่าใดก็ได้ ไม่มีข้อจำกัดแต่อย่างใด หุ้นพาร์ 5 บาท บริษัทจะขาย 30 บาทก็ได้ หรือจะขาย 100 บาท ก็ยังได้ถ้ามีคนซื้อ เคยมีตัวอย่างหุ้นบริษัทดีๆ หลายแห่งที่พาร์ 5 บาท แต่ขายในราคา 1000 กว่าบาทมาแล้วมากมาย การขายหุ้นสูงกว่ากำหนดได้ย่อมเป็นผลดีแก่บริษัท เพราะจะทำให้บริษัทมีเงินทุนสูงกว่าทุนที่จดทะเบียนไว้
เงินค่าหุ้นส่วนที่ได้สูงกว่าพาร์ (par) นี้ ภาษากฎหมายเรียกว่า “ส่วนเกินมูลค่าหุ้น” หรือทางธุรกิจเรียกกันว่า “พรีเมี่ยม” (premium) บริษัทจะขายหุ้นด้วยการบวกพรีเมี่ยมเข้าไปในราคาพาร์อีกเท่าไรก็ขึ้น อยู่กับชื่อเสียงและผลการประกอบการของบริษัท ถ้าบริษัทมีชื่อเสียงมีฐานะดี หุ้นของบริษัทก็จะขายเป็นราคาได้สูงกว่าหุ้นของบริษัทที่มีชื่อเสียง หรือฐานะด้อยกว่า
มีข้อกำหนดตามกฎหมายอยู่ข้อหนึ่งเกี่ยวกับพรีเมี่ยมนี้ก็คือว่า บริษัทจะขายหุ้นสูงกว่าราคาพาร์ก็ได้แต่ต้องมีการระบุอำนาจการขายหุ้นสูงกว่าราคาที่ตราไว้นี้ไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท (ป.พ.พ. มาตรา 1105) ถ้ามิได้มีการระบุไว้ก็จะขายหุ้นสูงกว่าพาร์ไม่ได้ ดังนั้น จึงควรที่จะระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิเสมอว่า บริษัทสามารถออกหุ้นสูงกว่าราคาที่ตราไว้ได้
อ้างอิง : บริษัทจำกัด, รองศาสตราจารย์ พิเศษ เสตเสถียร
ทนายสถิตย์ อินตา
โทร : 086-331-4759
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers