โอนหุ้นอย่างคนรู้กฎหมาย

Published by ทนายสถิตย์ อินตา on

Transfer shares like people know the law

โอนหุ้นอย่างคนรู้กฎหมาย

 

เมื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแล้ว หากต่อมาภายหลังไม่พอใจไม่อยากจะเป็นผู้ถือหุ้นต่อไป จะทำยังไงดี คำตอบมีทางเดียวคือต้องโอนขายหุ้นนั้นให้คนอื่น ซึ่งการโอนหุ้นนี้กฎหมายได้กำหนดรูปแบบไว้ด้วยว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งรูปแบบการโอนที่กฎหมายกำหนดนี้ ผู้โอนทุกคนต้องทำตามแม้จะเป็นการโอนโดยสมัครใจ เช่น การซื้อขาย หรือยกหุ้นให้กันก็ตาม ก็ต้องทำตามวิธีที่กฎหมายกำหนดไว้

วิธีการโอนหุ้นทำได้ 2 วิธีตามประเภทของใบหุ้น กล่าวคือ ถ้าเป็นใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ (bearer) คือเพียงแต่ส่งมอบใบหุ้นให้กับผู้รับโอนเท่านั้นก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว ( ป... มาตรา 1135) โดยไม่ต้องไปทำหนังสือ หรือสัญญาอะไรอีก เนื่องจากใบหุ้นชนิดออกให้กับผู้ถือนั้นไม่มีการระบุชื่อผู้ถือหุ้นไว้ ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการอะไร เพียงแต่ส่งมอบใส่มือผู้รับโอนก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์

ส่วนการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อผู้ถือหุ้นลงในใบหุ้นนั้นจะต้องมีการทำหนังสือสัญญาขึ้นมาว่าจะมีการโอนหุ้นให้กัน มีการเซ็นชื่อทั้งผู้โอนและผู้รับโอน รวมทั้งต้องมีคนที่สามเป็นพยานอีกหนึ่งคนและต้องใส่หมายเลขหุ้นเข้าไปด้วยว่าจะโอนให้กันกี่หุ้น มีหุ้นหมายเลขที่เท่าไร ต้องทำให้ครบถ้วนอย่างนี้จะขาดตกบกพร่องไปไม่ได้ ถ้าขาดไปอย่างหนึ่งอย่างใด การโอนนั้นเป็นโมฆะทันที (ป... มาตรา 1129) ถ้าซื้อขายกันก็เท่ากับไม่ได้ซื้อขาย ถ้ายกให้ก็มีค่าเท่ากับไม่ได้ยก เคยมีเรื่องที่เกิดขึ้นจริงเป็นคดีมาแล้วมากมายที่การโอนหุ้นทำโดยไม่ถูกต้อง เช่น มีแต่ลายเซ็นผู้โอนไม่มีลายเซ็นผู้รับโอน หรือมีลายเซ็นของทั้งสองคนแต่ไม่มีลายเซ็นพยาน ผลก็คือการโอนนั้นตกเป็นโมฆะ หรือแม้ขณะทำสัญญาจะมีคนร่วมเป็นพยานรู้เห็นอีกกี่คนก็ตาม ก็ไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจะต้องทำเป็นสัญญาตามที่กฎหมายกำหนดไว้

เคยมีตัวอย่างคดีหนึ่ง ผู้ถือหุ้นทำจดหมายไปถึงบริษัทว่าอยากโอนขายหุ้น ฝ่ายผู้ซื้อก็ทำจดหมายไปถึงบริษัทเหมือนกันว่ายินดีจะซื้อ ต่อมามีการผิดข้อตกลงกัน มีปัญหาว่ามีการโอนหุ้นแล้วหรือไม่ ศาลตัดสินว่า

จดหมายทั้งสองฉบับไม่ใช่การโอนหุ้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1308/2515)

การโอนหุ้นนั้นเป็นสิทธิของผู้ถือหุ้นที่จะทำได้เสมอ แม้หุ้นนั้นจะยังเรียกชำระไม่เต็มจำนวนก็ตาม เช่น หุ้นราคาพาร์ 100 บาท ชำระ 25% หรือ 25 บาท ผู้ถือหุ้นก็สามารถโอนหุ้นไปได้ โดยผู้รับโอนจะเข้าเป็นผู้ถือหุ้นคนใหม่มีหน้าที่ชำระให้บริษัทอีก 75 บาท นอกเหนือไปจากการทำสัญญาการโอนแล้ว ผู้รับโอนก็จะต้องไปแจ้งต่อทางบริษัทว่าขอเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากผู้โอนมาเป็นผู้รับโอนใน “สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น” ของบริษัทด้วย (ป... มาตรา 1129) มิฉะนั้นทางบริษัทจะถือว่าผู้โอนยังเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ ถ้ายังไม่มีการเปลี่ยนชื่อ อย่างเช่น บริษัทเกิดประกาศจ่ายเงินปันผลออกมาในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการแก้ไขชื่อ อย่างนั้นบริษัทก็จะจ่ายให้ผู้โอนซึ่งมีชื่ออยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นไป ผู้รับโอนก็จะไปฟ้องร้องอะไรบริษัทไม่ได้ เพราะชื่อยังไม่ได้เปลี่ยนก็มีทางเดียวต้องไปเรียกคืนจากผู้โอน ซึ่งผู้โอนก็ต้องคืนให้เพราะได้โอนหุ้นให้ผู้รับโอนไปแล้ว กล่าวโดยสรุปว่า เมื่อทำหนังสือสัญญาโอนกับผู้รับโอน มีอะไรก็เรียกร้องกันได้ แต่จะไปบังคับบริษัทไม่ได้จนกว่าจะได้เปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้น

อย่างไรก็ตาม วิธีการโอนที่ว่ามานี้ไม่มีผลใช้บังคับการโอนโดยทางมรดก เช่น ผู้ถือหุ้นถึงแก่ความตาย และทายาทของผู้ถือหุ้นจะขอเข้าเป็นผู้ถือหุ้นแทน เช่นนี้ก็ย่อมทำได้เพราะการเป็นผู้ถือหุ้นไม่ได้อาศัยคุณสมบัติเฉพาะตัวอะไร เมื่อถึงแก่ความตายทายาทก็เข้าเป็นผู้ถือหุ้นต่อได้โดยทางมรดกนี้ ผู้เป็นทายาทก็เพียงแต่นำหลักฐานไปแสดงให้บริษัทเห็นว่าตนเป็นทายาทจริง เช่นนี้ทางบริษัทก็คงยินยอมให้ทายาทเข้าเป็นผู้ถือหุ้นต่อไป โดยการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น (ป... มาตรา 1132)

นอกจากนี้ก็ยังไม่รวมถึงการโอนหุ้นที่ไปทำการซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกด้วย เพราะการที่ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นการซื้อขายหุ้นของบริษัทมหาชน และเป็นการซื้อขายในสถานที่เฉพาะ ซึ่งมีวิธีการเฉพาะไปอีกต่างหาก คือเป็นการโอนโดยวิธีสลักหลังใบหุ้นและหักบัญชีที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ไม่เกี่ยวกับวิธีการที่เรากำลังว่ากันอยู่นี้

ดังนั้น การโอนหุ้นไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย หรือการยกให้ ต้องทำตามวิธีการที่ว่ามา จะขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ การโอนหุ้นที่ไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดนั้นมีผลเป็นโมฆะ

อ้างอิง : บริษัทจำกัด ,ศาสตราจารย์ พิเศษ เสตเสถียร

 

ทนายสถิตย์ อินตา

โทร : 083-568-1148

 

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา

เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com

อ่านบทความ : https://bit.ly/2XVVfKQ

โทรปรึกษา ฟรี!

086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148

E-mail : numchailaw.office@gmail.com

Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทากฎหมายนำชัยพรมทาบทความกฎหมายคลังความรู้กฎหมายปรึกษากฎหมายฟรีปรึกษาด้านกฎหมายจ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!