เช็คเด้ง ใช่ว่าจะติดคุกเสมอไป !
เช็คเด้ง ใช่ว่าจะติดคุกเสมอไป !
เป็นที่ทราบกันดีอยู่ทั่วๆไปครับว่าเช็คเด้ง ผู้ออกเช็คมักจะถูกฟ้องเป็นคดีอาญากันอยู่บ่อยๆ และถ้าจะดูๆไปคดีในศาลโดยเฉพาะศาลแขวงแล้วคดีเช็คนับว่าเป็นคดียอดนิยมเลยทีเดียว แต่จะมีชาวบ้านสักกี่คนที่จะทราบหลักกฎหมายเกี่ยวกับเช็คจริงๆว่า การออกเช็คหรือสั่งจ่ายเช็คนั้น สั่งจ่ายแบบไหนถึงจะมีความผิด แบบไหนไม่มีความผิดกันบ้าง ผมท้าได้เลยว่าร้อยละ 99.99 ไม่รู้ครับ และพอถูกฟ้องก็กลัวติดคุก ก็รีบหาเงินไปใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้ ฝ่ายเจ้าหนี้ก็เป็นที่ยอดนิยมเหมือนกันครับ คือการทวงหนี้ด้วยคดีเช็ค แม้ว่าในบางครั้งการออกเช็คของลูกหนี้ไม่มีความผิดอาญา แต่ก็ฟ้องไปก่อนเพื่อกดดันและร้อยละ 90 ได้ผลครับ เพราะไม่มีใครอยากเสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง ลูกหนี้ก็ไม่อยากเสี่ยงถ้าผลของคดี 50/50 ก็ขอรับสารภาพและผ่อนจ่ายดีกว่า เพราะถ้าลุ้นผลคดีก็อาจติดคุกได้
วันนี้เราจะมาดูกันว่าออกเช็คอย่างไรถึงจะเป็นความผิดตาม พรบ.เช็คฯ นะครับ
- ต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ และ
- หนี้นั้นต้องเป็นหนี้ที่มีอยู่จริง และ
- หนี้นั้นต้องบังคับได้ตามกฎหมาย และ
- ออกโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
การออกเช็คหรือสั่งจ่ายเช็คที่จะเป็นความผิดตามกฎหมาย (พรบ.เช็คฯ) ต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบครบ 4 อย่าง (ตาม 1) ถึง 4) ดังกล่าวข้างต้นแล้วเช็คเด้งเท่านั้นครับ หากขาดองค์ประกอบไปอย่างใดอย่างหนึ่งแม้เพียงข้อเดียว การออกเช็คหรือสั่งจ่ายเช็คนั้นก็ไม่เป็นความผิดตาม พรบ.เช็คฯ เช่น หากเป็นการออกเช็คเพื่อค้ำประกันไม่ว่าจะค้ำประกันเงินกู้หรือค้ำประกันหนี้ใดๆ ก็ไม่มีความผิดเพราะไม่ได้ออกเพื่อชำระหนี้ ถือว่าขาดองค์ประกอบตามข้อ 1) (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2547) หรือ ออกเช็คไว้ล่วงหน้าเผื่อว่าในอนาคตอาจเกิดหนี้ขึ้น แบบนี้ก็ไม่มีความผิดเพราะในขณะออกเช็คไม่มีหนี้ต่อกัน ถือว่าขาดองค์ประกอบตาม 2) (เทียบเคียงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12007/2553) หรือ ออกเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมที่ไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกัน ก็ไม่มีความผิดเพราะหนี้เงินกู้ยืมที่ไม่ได้ทำสัญญากู้เงินก็ฟ้องเรียกเงินกู้ไม่ได้เมื่อฟ้องเรียกเงินกู้ไม่ได้ก็ถือว่าเป็นหนี้ที่บังคับไม่ได้ตามกฎหมาย ถือว่าขาดองค์ประกอบตาม 3) (ฎีกาที่ 1414/2536) หรือ สั่งจ่ายเช็คโดยที่เจ้าหนี้ก็รู้ดีว่าในขณะออกเช็คบัญชีถูกปิดไปแล้วหรือขณะออกเช็คเจ้าหนี้รู้อยู่ว่าลูกหนี้ไม่สามารถใช้เงินตามเช็คได้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการออกเพื่อจะไม่ให้มีเจตนาที่จะใช้เงินตามเช็ค ก็ขาดองค์ประกอบตาม 4) (เทียบเคียงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144/2556) เห็นมั๊ยล่ะครับว่าไม่ใช่ว่าการออกเช็คทุกกรณีจะเป็นความผิดตาม พรบ.เช็คฯเสมอไป กฎหมายเปิดช่องให้ตั้งมากมายที่จะไม่ต้องติดคุกเพราะคดีเช็ค
เมื่อไม่เป็นความผิดก็ไม่ติดคุกยังไงล่ะครับ ถ้าเจ้าหนี้ฟ้องคดีมาก็ตั้งทนายสู้คดี ศาลก็จะพิพากษายกฟ้อง ส่วนหนี้ในทางแพ่งก็ว่ากันไปตามคดีแพ่ง แต่เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถใช้คดีอาญามาบีบเราได้อีกต่อไป (พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4)
โดย ทนายนำชัย พรมทา
086- 331 – 5759
ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความ : https://bit.ly/2XVVfKQ
โทรปรึกษา ฟรี!
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers
สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ