คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7058/2558
วันละฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7058/2558
โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้มูลหนี้เดิมเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองมอบเงินให้จำเลยที่ 1 หลายครั้งเพื่อปล่อยกู้นอกระบบคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ร้อยละ 5 ต่อเดือน จึงเท่ากับร้อยละ 60 ต่อปี อันเป็นการกระทำผิดอาญาตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 นิติกรรมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 จึงมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า นิติกรรมดังกล่าวสามารถแยกส่วนที่ไม่เป็นโมฆะ ออกจากส่วนที่เป็นโมฆะตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 ได้หรือไม่ เห็นว่าควรวินิจฉัยเสียก่อนว่านิติกรรมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำลยที่ 1 เป็นนิติกรรมใด เห็นว่านิติกรรมดังกล่าวมิใช่การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 แต่เป็นกรณีที่ฝ่ายโจทก์ทั้งสองมอบหมายให้จำเลยที่ 1 นำเงินไปให้บุคคลภานนอกกู้ยืมเงินแล้วนำผลประโยชน์มามอบให้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนในกิจการดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 797 กรณีเช่นนี้จึงไม่สามารถแยกต้นเงินออกจากดอกเบี้ยซึ่งตกเป็นโมฆะดังเช่นนิติกรรมกู้ยืมได้ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันคืนต้นเงิน 15,000,000 บาท และ 7,000, 000 บาทแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับหรือไม่ เห็นว่าแม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 172 วรรคสองจะบัญญัติว่า”ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ”ก็ตาม แต่ตามมาตรา 411 ของกฎหมายฉบับเดียวกันบัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า”บุคคลใดได้กระทำเพื่อการชำระหนี้ เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองมอบเงินให้จำเลยที่ 1 นำไปปล่อยให้บุคคลภายนอกกู้ยืมคิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะ การที่โจทก์ทั้งสองมอบเงินให้จำเลยที่ 1 ไป โดยให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเงินกู้ไว้และต่อมาจำเลยที่ 2 ได้มาทำบันทึกค้ำประกันการชำระหนี้ให้ไว้แก่โจทก์ทั้งสอง จึงเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีแล้ว โจทก์ทั้งสองหาอาจเรียกร้องคืนได้ไม่ พิพากษายืน (คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ) (สมัคร เชาวภานันท์)