เช็คเด้ง แต่ไม่ติดคุก

Published by ทนายสถิตย์ อินตา on

เช็คเด้ง แต่ไม่ติดคุก!!

คราวที่แล้วเราพูดถึงการสั่งจ่ายเช็คอย่างไรถึงจะไม่ติดคุก ซึ่งก็ได้กล่าวไว้โดยละเอียดแล้ว ซึ่งหลักเกณฑ์และองค์ประกอบของความผิดตาม พรบ.เช็คก็อยู่ที่มาตรา 4 นั่นเองครับ ถ้าหากไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 4 ก็ไม่เป็นความผิดตาม พรบ.เช็ค ซึ่งได้กล่าวไว้โดยละเอียดในตอนที่แล้ว

สำหรับวันนี้ เราจะมาดูเท็คนิคว่า ออกเช็คอย่างไรถึงจะไม่ติดคุกในอีกมิติใหม่กัน เอาล่ะครับ ถ้าสมมุติว่าท่านออกเช็คอันเป็นความผิดตาม พรบ.เช็คฯ จะมีวิธีไหนที่จะไม่ติดคุกอีกบ้าง วันนี้ผู้เขียนก็มีวิธีคิดและหลักกฎหมายมาฝาก มีหลักกฎหมายอยู่ว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคารภายใน 30 วันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้นหรือหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ถือว่าคดีอาญาเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  (ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7)

จากหลักกฎหมายดังกล่าว ท่านได้ไอเดียอะไรบ้างครับ สมมุติว่าท่านออกเช็คที่เป็นความผิด แต่ยังไม่มีเงินไปชำระหนี้ตามเช็คนั้น หากรับสารภาพไปก็ติดคุกทันที (แทบจะทันที) ท่านก็ยังมีทางเลือกครับ นั้นคือเลือกที่จะสู้คดีไปก่อน เช่น สู้ในศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ ก็สู้คดีต่อไปในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษ ก็ฎีกาต่อ ในระหว่างนี้ท่านก็ต้องหาเงินให้พอกับหนี้ตามเช็คและนำเงินไปชำระหนี้ให้ครบถ้วนก่อนศาลฎีกาจะพิพากษา หรือ ถ้าท่านมีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้ในชั้นศาลใดก็ให้รีบไปชะรำที่ชั้นนั้น ถ้าท่านทำได้กฎหมายถือว่าหนี้ตามเช็คนั้นสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่จะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ที่สำคัญคือต้องชำระหนี้ตามเช็คก่อนคดีถึงที่สุดครับ ถือว่าคดีอาญาเลิกกัน นั่นคือท่านไม่ต้องติดคุกนั่นเอง ทั้งนี้เทียบเคียงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2534 , 5865/2534 , 494/2535 และ 6241/2538

ฟังดูผิวเผินเหมือนจะเป็นการหัวหมอ หรือ เป็นการประวิงคดีให้ล่าช้าเสี่ยงต่อการจะละเมิดอำนาจศาล แต่ท่านลองคิดดูดีดีครับ ช่องทางนี้เป็นช่องทางที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้ทำได้ และการสู้คดีก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นไม่ใช่การหัวหมอ การสู้คดีแบบตรงไปตรงมาไม่ได้ประวิงคดีไม่ได้ละเมิดอำนาจศาลอีกทั้งยังเป็นทางออกที่ดีด้วยเพราะถ้าท่านรับสารภาพไปโดยที่ในขณะที่รับสารภาพท่านไม่มีเงินและไม่มีช่องทางหาเงินไปชำระหนี้ตามเช็คได้ ท่านก็ติดคุกทันที เจ้าหนี้ก็ไม่ได้เงินคืน

อย่าเพิ่งคิดว่าเมื่อออกเช็คที่เป็นความผิดแล้วจะต้องติดคุกเสมอไปนะครับ หากเราใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างน้อยลูกหนี้ก็มีเวลาหาเงินมาใช้หนี้แก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้ก็ไม่ติดคุก เจ้าหนี้ก็ได้เงินคืน ศาลท่านก็แฮปปี้เพราะไม่ต้องตัดสินให้ใครต้องติดคุกติดตาราง งานนี้มีแต่ได้กับได้ครับ ในทางตรงข้าม หากเจ้าหนี้ฟ้องมา ลูกหนี้ก็รับสารภาพไป ทั้งๆที่ไม่พร้อมที่จะชำระหนี้ แบบนี้โอกาสติดคุกแทบจะ 100% เมื่อลูกหนี้ติดคุก เจ้าหนี้จะไปเอาเงินคืนจากใครกันเล่าครับ ศาลก็ต้องตัดสินให้คนติดคุกทั้งๆที่คดีเช็คก็ไม่ใช่คดีอาชญากรรมร้ายแรงอะไร แต่ก็ต้องตัดสินไปตามตัวบทกฎหมาย ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่าศาลไม่อยากตัดสินให้คนติดคุกเพราะคดีเช็คหรอกครับ เพราะศาลท่านเข้าใจดีว่าคดีเช็คไม่ใช่คดีประเภทที่เป็นโจรผู้ร้าย แต่เป็นเพียงนิตินโยบายของรัฐ คือพูดภาษาชาวบ้านคือกฎหมายกำหนดโทษไว้ก็ต้องตัดสินไปตามนั้นก็เท่านั้นเองครับ ผู้เขียนเห็นว่าท่านจะมีเวลาหาเงินประมาณปีหรือสองปีเพื่อนำเงินมาชำระหนี้เจ้าหนี้ครับ

 

โดย ทนายนำชัย  พรมทา

086- 331 – 5759

 

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความ : https://bit.ly/2XVVfKQ

โทรปรึกษา ฟรี!
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!