ผู้รับเหมาทิ้งงาน แม้ไม่ได้ทำสัญญาก็สามารถฟ้องดำเนินคดีได้

Published by ทนายสถิตย์ อินตา on

ผู้รับเหมาทิ้งงาน แม้ไม่ได้ทำสัญญาก็สามารถฟ้องดำเนินคดีได้ 

หลายท่านที่จ้างผู้รับเหมาเพื่อทำการสร้างบ้านหรือต่อเติมบ้านก็ดีนั้น มักจะเจอปัญหาผู้รับเหมาเบิกเงินค่าจ้างไปแล้วไม่เข้ามาทำงานให้เสร็จ หรือเข้ามาบ้างไม่เข้ามาบ้าง หรือใช้วัสดุในการก่อสร้างไม่ตรงตามแบบที่ตกลงกันไว้ หรือการก่อสร้างมีความชำรุดบกพร่อง แต่ไม่ได้เซ็นสัญญาใดๆไว้กับผู้รับเหมาไว้ ผู้ว่าจ้างจะทำอย่างไรกับผู้รับเหมาแบบนี้ได้บ้าง  

วันนี้ทางสำนักงานฯ ขออธิบายผู้ว่าจ้างทั้งหลาย ดังนี้ สัญญาจ้างก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นก่อสร้างบ้าน ต่อเติมบ้าน วางระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปา จ้างจัดสวนต่างๆ ซึ่งการกระทำลักษณะพวกนี้ทางกฎหมายจัดอยู่ในเรื่องของการ จ้างทำของ กล่าวคือ การกระทำที่มีลักษณะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จ โดยมีข้อตกลงว่าผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างหรือค่าตอบแทนแห่งผลสำเร็จนั้นให้แก่ผู้รับจ้าง ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องดำเนินคดีให้ผู้รับเหมาชำระค่าเสียหายต่างๆได้ โดยสามารถใช้พยานบุคคลในการสืบ หรือภาพถ่าย หรือพยานวัตถุอื่น เข้าสืบเพื่อให้ได้ความจริงโดยไม่มีสัญญาว่าจ้างก็สามารถทำได้  

สำหรับอายุความคดีจ้างทำของนั้นจะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีภายใน 2 ปี  

ส่วนการฟ้องผู้รับเหมารับผิดในกรณีชำรุดบกพร่อง ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ความชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  

มาตรา ๕๘๗ อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น 

มาตรา ๕๙๓ ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันควร หรือทำการชักช้าฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญาก็ดี หรือทำการชักช้าโดยปราศจากความผิดของผู้ว่าจ้าง จนอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าการนั้นจะไม่สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิกสัญญาเสียได้ มิพักต้องรอคอยให้ถึงเวลากำหนดส่งมอบของนั้นเลย 

มาตรา ๕๙๙ ในกรณีที่ส่งมอบเนิ่นช้าไปก็ดี หรือส่งมอบการที่ทำชำรุดบกพร่องก็ดีท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ เว้นแต่ผู้รับจ้างจะให้ประกันตามสมควร 

มาตรา ๖๐๐ ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาไซร้ท่านว่าผู้รับจ้างจะต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่อง เพียงแต่ที่ปรากฏขึ้นภายในปีหนึ่งนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฏขึ้นภายในห้าปี ถ้าการที่ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน นอกจากเรือนโรงทำด้วยเครื่องไม้ 

แต่ข้อจำกัดนี้ท่านมิให้ใช้บังคับเมื่อปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้น 

มาตรา ๖๐๑ ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่ง นับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น 

โดยทนายสุกฤษฎิ์ เจริญสมบัติ 

โทร. 086 – 8472297 

 

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา

เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com

อ่านบทความ : https://bit.ly/2XVVfKQ

โทรปรึกษา : 086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148

E-mail : numchailaw.office@gmail.com

Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทากฎหมายนำชัยพรมทาบทความกฎหมายคลังความรู้กฎหมายปรึกษากฎหมายฟรีปรึกษาด้านกฎหมายจ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!