บริษัทลูกหนี้ปิดกิจการ ต้องรีบฟ้องคดีภายใน 2 ปี

Published by ทนายสถิตย์ อินตา on

บริษัทลูกหนี้ปิดกิจการ ต้องรีบฟ้องคดีภายใน 2 ปี

 

ในช่วงนี้ทุกท่านจะได้เห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีบริษัท โรงงาน หรือห้างร้านต่างๆ ปิดกิจการหลายแห่ง เนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจและโรคระบาดที่มาซ้ำเติมอีก ทำให้บริษัทห้างร้านต่างๆ ต้องประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ต้องปิดกิจการ ดังนั้น หากท่านเป็นเจ้าหนี้การค้าของบริษัทที่ปิดกิจการเหล่านี้ และบริษัทลูกหนี้เหล่านี้ไม่ได้ชำระหนี้กับท่าน ท่านจะต้องฟ้องดำเนินคดีกับบริษัทซึ่งเป็นลูกหนี้ของท่านภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272 ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้น หรือ  ผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานเช่นนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี  หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ท่านก็ไม่อาจจะเรียกให้ลูกหนี้เหล่านี้จ่ายให้กับท่านได้ เพราะคดีได้ขาดอายุความไปแล้ว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1085/2534

อายุความฟ้องเรียกหนี้สินในกรณีที่มีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1272 ได้บัญญัติจำกัดอายุความฟ้องร้องไว้เป็นกรณีพิเศษนอกเหนือจากบทบัญญัติในเรื่องอายุความทั่วไปที่ยาวกว่า และการเริ่มนับอายุความต้องถือตามที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในมาตราดังกล่าว จะนำเอาหลักในเรื่องการนับอายุความทั่วไปในมาตรา 169 มาใช้ไม่ได้ กล่าวคือ ต้องนับระยะเวลาสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ซึ่งวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี หมายถึง วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีตามมาตรา 1270 หาใช่จะต้องนับระยะเวลานับแต่วันที่โจทก์ควรรู้ถึงการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีคือวันที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่ เพราะการประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 1021และมาตรา 1022 นั้น เป็นแต่เพียงให้ถือว่าบรรดาเอกสารและข้อความที่ลงทะเบียนและนายทะเบียนได้แต่งย่อไปพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นอันรู้แก่บุคคลทั่วไปเท่านั้น จะนำมาใช้กับการเริ่มนับอายุความที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษตามมาตรา 1272 ไม่ได้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ในฐานะที่เป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่ขอกู้เบิกเงินเกินบัญชี คงเป็นคู่สัญญากับโจทก์ในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เท่านั้นถึงแม้ในสัญญาค้ำประกันจะระบุถึงการสละสิทธิในข้อต่อสู้ต่าง ๆในฐานะของผู้ค้ำประกันที่จะพึงมีตามกฎหมายไว้ ก็ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันเปลี่ยนฐานะเป็นลูกหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหรือหมดสิทธิที่จะยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ที่มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ด้วย ในเมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหลุดพ้นความรับผิดเนื่องจากหนี้ของโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นความรับผิดด้วย

 

โดยทนายสุกฤษฎิ์ เจริญสมบัติ

โทร. 086 – 8472297

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

โทรปรึกษา ฟรี!
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!