ข้อบังคับของบริษัทที่ควรจะมี ตอนที่ 1
ข้อบังคับของบริษัทที่ควรจะมี ตอนที่ 1
ท่านทั้งหลายครับ อันว่าการจัดการบริษัทนั้น ข้อบังคับของบริษัทถือว่าสำคัญมากๆ เพราะข้อบังคับของบริษัทก็เหมือนกับเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญของบริษัทนั้นๆ เป็นสัญญาร่วมกันของผู้ถือหุ้นทั้งหลาย แม้ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดสิทธิและหน้าที่เบื้องต้นให้กับกรรมการและผู้ถือหุ้นต้องปฏิบัติต่อกัน แต่ก็เป็นเรื่องพื้นฐานเท่านั้น และเวลาบริหารจัดการจริงๆ ก็มักจะเกิดปัญหาขึ้นระหว่างผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อยกับเสียงข้างมาก เกี่ยวกับเรื่องการปันผล เรื่องที่ผู้ถือหุ้นใหญ่หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเจ้าของบริษัทไม่อยากให้มีบุคคลอื่นหรือที่เรียกว่าคนนอกเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทด้วย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรจึงจะป้องกันปัญหาได้ วันนี้ผู้เขียนขอนำเสนอข้อบังคับของบริษัทที่ควรจะได้มีการกำหนดไว้ในบริษัทของท่านเพื่อขจัดปัญหาเกี่ยวกับการปันผล และ ปัญหาการโอนหุ้นไปยังบุคคลภายนอก ดังนี้
- ข้อบังคับเกี่ยวกับการโอนหุ้น ควรมีข้อบังคับว่า “…ผู้ถือหุ้นจะขายหุ้นของตน หรือ โอนหุ้นของตนไม่ว่าด้วยเหตุใดๆให้แก่บุคคลภายนอกได้ก็แต่โดยได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น และต้องให้โอกาสผู้ถือหุ้นเดิมเป็นผู้ซื้อหุ้นนั้นก่อนในราคาที่จดทะเบียน หรือ ราคาที่อาจตกลงกันแต่ต้องไม่ต่ำกว่าราคาจดทะเบียน หากผู้ถือหุ้นเดิมไม่ประสงค์ที่จะซื้อหุ้นนั้น ผู้ถือหุ้นที่ประสงค์จะขายหุ้นหรือโอนหุ้นจึงมีสิทธิขายหุ้น หรือ โอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลภายนอกได้ และ หากการขายหุ้นไม่ได้กระทำตามบทบัญญัติในส่วนนี้ให้ถือว่าไม่มีผลใช้บังคับ และ ไม่อาจใช้ยันต่อบริษัทหรือผู้ถือหุ้นอื่นได้…” หลักเกณฑ์ในข้อบังคับในลักษณะนี้ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นเดิมไม่อยากให้ผู้ถือหุ้นบางกลุ่มอาจโอนหุ้นให้แก่บุคคลภายนอก โดยอาจเพราะเหตุว่าเป็นธุรกิจที่ก่อตั้งและฟูมฟักมาด้วยความยากลำบากตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่า จะให้หุ้นนั้นไปอยู่ในมือของบุคคลภายนอกโดยที่เราไม่ยินยอมได้อย่างไรกัน
- ข้อบังคับเกี่ยวกับการปันผล “…“ภายใต้หลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถ้าบริษัทมีกำไรติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีหรือ 2 รอบบัญชีติดต่อกัน หรือ ถ้าบริษัทมีกำไรสะสมถึงจำนวนกว่า 2 เท่าของทุนจดทะเบียน อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติพิจารณาปันผลแก่ผู้ถือหุ้นตามส่วนเว้นแต่ผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในขณะนั้นจะเห็นพ้องร่วมกันทุกคนให้ดำเนินการเป็นอย่างอื่น”…” ข้อบังคับในลักษณะนี้อาจแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ผู้ถือหุ้นใหญ่เอาเปรียบผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อย เกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผล บางกิจการบริษัทเปิดมาแล้วเป็นสิบๆปี ไม่เคยจ่ายเงินปันผลเลยซักครั้ง ผู้ถือหุ้นใหญ่ซึ่งก็อาจเป็นกรรมการของบริษัทด้วยคงไม่ลำบากอะไร เพราะมีหุ้นมากกว่า และ ครอบงำบริษัทได้ อีกทั้งเป็นกรรมการได้รับเงินเดือนค่าตอบแทนเดือนละเป็นแสนๆ แต่ผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อย ลงเงินไปแล้วก็มีความคาดหวังและตั้งหน้าตั้งตารอว่าสิ้นปีจะเงินปันผล แต่รอจนเหงือกแห้ง ปีแล้วปีเล่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ได้แต่บอกว่า กำไรน้อย หรือ เอาเงินไว้ลงทุนต่อในปีต่อๆไป ไม่ยอมปันผลซักที
ข้อบังคับก็เป็นเพียงกฎกติกา เพื่อเป็นหลักประกันพื้นฐานว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อบังคับนั้นจะได้รับการคุ้มครองโดยกฎนั้น แต่ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากกิเลส เกิดจากความโลภของมนุษย์ หากมนุษย์ยังไม่ละความโลภ ละกิเลสลงได้บ้าง ปัญหาความขัดแย้ง การพิพาทกันก็ยังคงมีอยู่ตราบนานเท่านาน และจะยังคงมีอยู่คู่กับโลกนี้ไปอีกนานเท่านาน ตราบเท่าที่มีมนุษย์ยังมีอยู่ในโลกใบนี้เลยทีเดียวครับ
อ่านตอนที่ 2 ได้ที่นี้ ข้อบังคับของบริษัทที่ควรจะมี ตอนที่ 2
ทนายนำชัย พรมทา
โทร. 086-331-4759
ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
โทรปรึกษา ฟรี!
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers
สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ