โดนเบี้ยวค่าสินค้า ผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

Published by ทนายสถิตย์ อินตา on

โดนเบี้ยวค่าสินค้า ผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

โดนเบี้ยวค่าสินค้า ผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ ?

เมื่อบุคคลสองฝ่ายมีการผิดนัดผิดสัญญากันเกิดขึ้น มักจะมีปัญหาเกิดขึ้นตามมาว่า การที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายผิดนัดผิดสัญญากันนั้น เป็นความผิดฐานฉ้อโกง หรือ ผิดสัญญาทางแพ่งกันแน่ ซึ่งตามกฎหมาย คำว่า ฉ้อโกง หมายความว่า ผู้ใดหรือบุคคลใดหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงฯ

ส่วนผิดสัญญาซื้อขายนั้น กฎหมายได้ให้ความหมายของ สัญญาซื้อขาย  คือ  สัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่ง มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ ดังนั้น ผู้ขายจะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สิน ในฐานะคู่สัญญาซื้อขายต่างมีสิทธิและหน้าที่ต่อกัน ดังนี้

ผู้ขาย มีหน้าที่ คือ รับชำระราคา โอนกรรมสิทธิ์ ส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขาย ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องฯ

ผู้ซื้อ มีสิทธิหน้าที่ คือ รับมอบสินค้า ชำระราคา รับโอนกรรมสิทธิ์

การจะพิจารณาว่าเป็นการฉ้อโกงหรือผิดสัญญานั้น จะต้องพิจารณาถึงเจตนาของคู่สัญญาขณะทำสัญญา ว่ามีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงไว้กับคู่สัญญาอีกฝ่ายหรือไม่ ซึ่งขณะทำสัญญาคู่กรณีฝ่ายที่ผิดสัญญา ไม่มีเจตนาจะปฏิบัติตามสัญญาเลยตั้งแต่แรก เพียงแต่ทำสัญญาหรือตกลงแบบส่งๆไป เพื่อหวังผลประโยชน์จากคู่กรณี เช่นนี้ ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่ถ้าขณะทำสัญญา คู่กรณีฝ่ายที่ทำผิดสัญญานั้น มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญา แต่ภายหลังแล้วไม่ได้ปฏิบัติตาม ย่อมเป็นเพียงเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5255/2540

สัญญากู้ที่จำเลยทำให้ไว้แก่โจทก์ร่วมนั้น จำเลยทำในนามของ ป. ซึ่งไม่มีตัวจริง ทั้งเช็คที่จำเลยนำมาแลกจำเลยยืมของบุคคลอื่นมาเป็นเช็คที่ปิดบัญชีแล้ว ลายมือชื่อที่จำเลยลงในเช็คก็ใช้ภาษาจีนไม่เป็นไปตามตัวอย่างที่ให้ไว้กับธนาคารเช็คที่ใช้แลกเงินจากโจทก์ร่วมไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ การหลอกลวงเอาเงินจากโจทก์ร่วมโดยทำหลักฐานการกู้หรือมอบเช็คให้โจทก์ร่วมดังกล่าวก็เป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินนั่งเอง จำเลยมิได้มีเจตนาจะผูกพันตามสัญญากู้ หรือเช็คที่นำไปแลกแต่อย่างใดการกระทำของจำเลยครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 แล้ว

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่าไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3784/2532

จำเลยตกลงจะขายข้าวโพดให้แก่ผู้เสียหาย และผู้เสียหายได้จ่ายเงินค่าข้าวโพดให้จำเลยไปแล้ว ครั้นผู้เสียหายจะไปรับมอบข้าวโพด จำเลยบอกว่าไม่ขายข้าวโพดให้ผู้เสียหายและไม่ยอมให้นำข้าวโพดไป ผู้เสียหายทวงเงินคืน จำเลยบอกว่าไม่มีเงินคืนให้เช่นนี้ เป็นเรื่องจำเลยตกลงจะขายข้าวโพดให้ผู้เสียหายแล้วเปลี่ยนใจไม่ยอมขาย ข้าวโพดที่จะขายมีอยู่จริง ในขณะที่เจรจาตกลงซื้อขายกัน จึงเป็นกรณีที่จำเลยประพฤติผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นจำเลยไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง

โดยทนายสุกฤษฎิ์ เจริญสมบัติ

โทร. 086 – 8472297

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

โทรปรึกษา ฟรี!
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!