นายจ้างจะสั่งพักงานลูกจ้างได้แค่ไหน

Published by ทนายสถิตย์ อินตา on

นายจ้างจะสั่งพักงานลูกจ้างได้แค่ไหน

นายจ้างจะสั่งพักงานลูกจ้างได้แค่ไหน ?

 

บทลงโทษที่ยอดฮิตที่นายจ้างมักจะลงโทษลูกจ้างนอกเหนือไปจากการเลิกจ้าง คือ การหักค่าจ้าง และ การพักงาน การหักค่าจ้างเราเคยพูดกันไปแล้วว่าทำได้หรือไม่เพียงใด (สามารถหาอ่านได้จากบทความเดิมได้เลยครับ) แต่สำหรับการพักงานนายจ้างหลายคนก็ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วตามกฎหมายสามารถพักงานของลูกจ้างได้หรือไม่แค่ไหนเพียงใด วันนี้สำนัหงานฯ เราจะมาดูข้อกฎหมายกันครับ

การพักงานมี 2 กรณี คือ การพักงานระหว่างสอบสวน กับ การลงโทษโดยการพักงาน

การพักงานในระหว่างสอบสวนความผิดลูกจ้างมีกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน       พ.ศ.2541 ในมาตรา 116 และ มาตรา 117 โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

  • ลูกจ้างนั้นได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด (วินัยในการทำงานตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน)
  • นายจ้างประสงค์ทำการสอบสวนลูกจ้างและประสงค์พักงานลูกจ้างนั้น
  • มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระบุว่านายจ้างมีอำนาจสั่งพักงานลูกจ้างได้
  • นายจ้างได้มีคำสั่งพักงานเป็นหนังสือระบุความผิดและกำหนดระยะเวลาพักงานซึ่งต้องไม่เกิน 7 วัน และ
  • นายจ้างได้แจ้งให้ลูกจ้างทราบก่อนการพักงานนั้นแล้ว
  • นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างพักงานไม่น้อยกว่า 50% ของค่าจ้างปกติ

ส่วนการลงโทษลูกจ้างด้วยการพักงานนั้น ไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง แต่ก็ต้องมีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกันกับหลักเกณฑ์การพักงานในระหว่างสอบสวน คือ ต้องมีข้อบังคับกำหนดโทษพักงานไว้ด้วย , ต้องกำหนดระยะเวลาการพักงาน และ ต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าก่อนการลงโทษ

 

ท่านที่สนใจสามารถศึกษาแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4721/2541 เมื่อไม่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างพักงานลูกจ้างเมื่อผลการสอบสวนปรากฏว่าลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนั้น การที่โจทก์ได้ส่งมอบงานในหน้าที่ก่อนที่จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์การพักงานโจทก์จึงไม่ใช่สืบเนื่องมาจากความผิดของโจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานโจทก์

โจทก์ขอลาออกโดยแจ้งล่วงหน้าตามระเบียบแล้ว จำเลยไม่อนุญาตให้โจทก์ลาออก แต่กลับสั่งพักงานโจทก์ โจทก์จึงยังไม่พ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยและโจทก์ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยอยู่ ไม่ว่าในระหว่างที่จำเลยพักงานโจทก์ จำเลยได้จ่ายงานให้โจทก์ทำหรือไม่ ส่วนจำเลยก็ยังมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างตอบแทนการทำงานให้โจทก์หาได้ไม่ เพราะโจทก์ไม่ได้ขอพักงานเอง

 และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9330/2542 “ลูกจ้างฟ้องว่า นายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างเป็นเวลา 5 วัน โดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด ขอให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงาน ในชั้นพิจารณาลูกจ้างรับข้อเท็จจริงว่าได้กระทำความผิดจริงตามคำให้การต่อสู้คดีของนายจ้าง ดังนี้ นายจ้างย่อมมีอำนาจลงโทษลูกจ้างด้วยการพักงานได้ เมื่อการพักงานตามฟ้องเป็นการพักงานเนื่องจากการลงโทษทางวินัยแก่ลูกจ้างเพราะลูกจ้างกระทำความผิด มิใช่กรณีที่นายจ้างสั่งพักงานระหว่างทำการสอบสวนลูกจ้างซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 116 และ 117 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541ศาลแรงงานจึงพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานแก่ลูกจ้างตามบทกฎหมายข้างต้นไม่ได้

            หากท่านผู้อ่านได้อ่านบทความนี้แล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ ช่วยกดแชร์ส่งต่อเป็นกำลังใจให้สำนักงานฯและผู้เขียนด้วยนะครับ+++++

 

โดยทนายนำชัย พรมทา

โทร. 086-331-4759

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

โทรปรึกษา ฟรี!
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!