หัวหน้างานมีอำนาจออกใบเตือนพนักงานได้หรือไม่
หัวหน้างานมีอำนาจออกใบเตือนพนักงานได้หรือไม่
เรื่องใบเตือนก็เป็นเรื่องยอดฮิตอีกเรื่องสำหรับลูกจ้างนายจ้าง บางบริษัท ออกใบเตือนกันเป็นว่าเล่น ยิ่งใกล้ๆสิ้นปี ใกล้ๆโบนัสจะออก ใบเตือนก็จะเยอะเป็นพิเศษเพราะถ้าไล่พนักงานออกได้ก็ประหยัดโบนัส ลดต้นทุนลงไปได้อีก ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้น คือ ใครมีอำนาจออกใบเตือนพนักงานหรือลูกจ้างได้ เอาจริงๆ คือ นายจ้างก็ไม่รู้ ลูกจ้างก็ไม่รู้แต่ก็ทำตามๆกันมา คนก่อนๆเค้าทำมาอย่างนี้ เราก็ทำต่อไป ลูกจ้างก็เข้าใจว่าหัวหน้างานของตนหรือผู้บังคับบัญชาในระดับถัดขึ้นไปสั่งหรือให้ทำอะไรก็ทำหมดรวมทั้งให้เซ็นใบเตือนก็เซ็นไป แล้วที่ถูกต้องเป็นยังไง หัวหน้างานมีอำนาจออกใบเตือนหรือไม่ แล้วถ้าไม่มีอำนาจผลจะเป็นอย่างไร แล้วใครจะเป็นผู้มีอำนาจออกใบเตือนพนักงาน วันนี้เราจะมาดูข้อกฎหมายกันครับ
สัญญาจ้างแรงงาน เป็นสัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ดังนั้น คนที่จะมีอำนาจบังคับตามสัญญาจ้างรวมทั้งให้คุณให้โทษ เช่น ขึ้นเงินเดือน เพิ่มสวัสดิการ ลดสวัสดิการ ออกใบเตือน หรือ ไล่ออก คือ นายจ้างนั่นเอง แล้วใครคือนายจ้างมาดูกัน
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ให้ความหมายนายจ้างไว้ว่า “นายจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึง
- ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง
- ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย”
ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่า นายจ้าง หมายถึง ผู้ที่ตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานและให้หมายความถึงผู้ที่ได้รับมอบหมายจากนายจ้างนั้นด้วย และ ถ้านายจ้างเป็นนิติบุคคล (บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด) ให้หมายถึงกรรมการ (MD) ของบริษัทนั้น และ หมายความถึงผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก MD นั้นด้วย ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก MD ก็จะเป็นผู้จัดการฝ่ายต่างๆนั่นเอง ดังนั้น คนที่มีอำนาจให้คุณให้โทษหรือออกใบเตือนลูกจ้าง ก็คือ MD หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก MD นั่นเองครับ หัวหน้างานไม่มีอำนาจออกใบเตือนลูกจ้าง
เทียบเคียงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3344/2526 พนักงานในตำแหน่งหัวหน้าแผนกหรือผู้ช่วยผู้จัดการถ้าไมได้รับมอบอำนาจจากนายจ้างหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลแล้ว ไม่มีอำนาจออกใบเตือน
หมายเหตุ แต่ในทางปฏิบัติก็คือหัวหน้าแผนกหรือหัวหน้างานเป็นผู้ออกใบเตือนให้ลูกจ้างแล้วนำไปให้ MD หรือ ผู้จัดการเซ็นอีกที ซึ่งแบบนี้ก็ถือว่าใช้ได้นะครับเพราะถือว่านายจ้างได้ให้การรับรอง แต่ถ้าหัวงานคนใดคิดจะแกล้งลูกน้อง ออกใบเตือนให้ลูกน้องไปแบบสุ่มๆ แล้วเอาไปให้ MD หรือผู้จัดการเซ็นทีหลัง แล้วเขาไม่ยอมเซ็น อันนี้จะซวยเอา เพราะจะไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง และอาจถือว่าเป็นการทำผิดวินัยบริษัทอีกด้วย
หากท่านผู้อ่านได้อ่านบทความนี้แล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ ช่วยกดแชร์ส่งต่อเป็นกำลังใจให้สำนักงานฯและผู้เขียนด้วยนะครับ+++++
โดยทนายนำชัย พรมทา
โทร. 086-331-4759
ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
โทรปรึกษา ฟรี!
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers
สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ