สามีเข้าไปในบ้านยามวิกาล

Published by ทนายสถิตย์ อินตา on

สามีเข้าไปในบ้านยามวิกาล

คำถาม สามีภริยาหย่าขาดจากกันแล้วโดยตกลงยกบ้านให้แก่บุตร ให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของภริยาทั้งยังได้มีการย้ายชื่อสามีออกจากบ้านเกิดเหตุไปแล้ว หากสามีเข้าไปในบ้านยามวิกาล จะมีความผิดฐานบุกรุกหรือไม่ ?

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เข้าไปหรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน อาคารเก็บรักษาทรัพย์หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น หรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้นเมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คำตอบ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8207/2553

คำพิพากษาย่อสั้น : โจทก์ร่วมกับจำเลยตกลงยกบ้านที่เกิดเหตุให้แก่บุตร และให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์ร่วม อีกทั้งยังได้มีการย้ายชื่อจำเลยออกจากบ้านเกิดเหตุไปแล้วภายหลังจากจดทะเบียนหย่า 8 วัน ย่อมแสดงว่าบ้านที่เกิดเหตุเป็นบ้านที่โจทก์ร่วมกับบุตรพักอาศัยอยู่ด้วยกันภายหลังจากที่โจทก์ร่วมกับจำเลยหย่าขาดจากกันแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะมาพักอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเหตุอีก มิฉะนั้นการหย่าและข้อตกลงเรื่องจดทะเบียนหย่าระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยจะไม่มีผลแต่ประการใด เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิพักอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเหตุ การกระทำของจำเลยที่เข้าไปในบ้านเกิดเหตุช่วงเวลาดึกประมาณเที่ยงคืนถึงหนึ่งนาฬิกาเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร

คำพิพากษาย่อยาว : โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2545 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านพักอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของ  นางรัชนีวรรณ ผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร และจำเลยทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า และทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ โดยใช้เท้าเหยียบเก้าอี้ไม้มะค่า 1 ตัว จนหักเสียหาย ใช้วัตถุของแข็งงัดประตูบ้านจนกลอนประตู 1 อัน คดงอเสียหาย และใช้มือกดเปิดถังแก๊ส 1 ถัง ได้รับความเสียหาย คิดเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,850 บาท เหตุเกิดที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 358, 364, 365 (3)

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานางรัชนีวรรณ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 364, 365 (3) (ที่ถูก 365 (3) ประกอบมาตรา 364) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานบุกรุก จำคุก 1 ปี ปรับ 5,000 บาท ฐานทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 6 เดือน ปรับ 1,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ของผู้อื่น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ร่วมกับจำเลยเคยเป็นสามีภริยากันมาก่อนเกิดเหตุ ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนหย่า โดยมีข้อตกลงตามใบสำคัญการหย่าเอกสารหมาย จ. 3 ว่าบ้านที่เกิดเหตุยกให้แก่เด็กชายไตรนิกร์ บุตรของโจทก์ร่วมกับจำเลย และให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์ร่วม ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยเข้าไปในบ้านที่เกิดเหตุ คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกหรือไม่ โจทก์ร่วมเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 1 นาฬิกา ขณะที่โจทก์ร่วมกับบุตรนอนหลับอยู่ภายในบ้านเกิดเหตุ จำเลยมาร้องเรียกให้เปิดประตู มิฉะนั้นจำเลยจะปีนเข้าไปในบ้าน โจทก์ร่วมจึงโทรศัพท์แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจ ร้อยตำรวจเอกประวิทย์ พยานโจทก์เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณเที่ยงคืน ขณะที่พยานปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรป้องกันปราบปรามได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่ามีคนร้ายปีนเข้ามาในบ้านเกิดเหตุ พยานกับพวกจึงเดินทางไปยังบ้านที่ได้รับแจ้งเหตุ พบจำเลยอยู่ในบริเวณบ้าน จำเลยบอกกับพยานว่าไม่มีอะไร พยานจึงกลับไป ต่อมาอีกประมาณ 10 นาที พยานได้รับแจ้งทางวิทยุให้กลับไปยังบ้านที่เกิดเหตุอีก เนื่องจากมีเหตุทะเลาะวิวาท พยานจึงย้อนกลับไปพบโจทก์ร่วมกับจำเลยโต้เถียงกันอยู่ในบ้าน จำเลยแจ้งต่อพยานว่าเป็นเรื่องผัวเมียทะเลาะกัน พยานเกรงว่าโจทก์ร่วมจะได้รับอันตรายจึงได้พาโจทก์ร่วมกับบุตรไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอพนมสารคาม จำเลยนำสืบรับว่า ไปที่บ้านเกิดเหตุ ภายหลังจากรับประทานอาหารกับสิบตำรวจโทสุระชา เมื่อเวลาประมาณ 24 นาฬิกา และได้ใช้เก้าอี้ปีนขึ้นไปทางระเบียงบ้านเข้าไปในบ้านที่เกิดเหตุจริง เมื่อพิเคราะห์ข้อความตามบันทึกข้อตกลงในทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ. 3 ซึ่งระบุว่า โจทก์ร่วมกับจำเลยตกลงยกบ้านที่เกิดเหตุให้แก่บุตร และให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์ร่วม อีกทั้งยังได้มีการย้ายชื่อจำเลยออกจากบ้านเกิดเหตุไปแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2545 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากจดทะเบียนหย่าแล้ว 8 วัน ตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล. 2 ย่อมแสดงว่า บ้านที่เกิดเหตุเป็นบ้านที่โจทก์ร่วมกับบุตรพักอาศัยอยู่ด้วยกัน ภายหลังจากที่โจทก์ร่วมกับจำเลยหย่าขาดจากกันแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะมาพักอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเหตุอีก มิฉะนั้นการหย่าและข้อตกลงเรื่องจดทะเบียนหย่าระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยจะไม่มีผลแต่ประการใด เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิพักอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเหตุกระทำของจำเลยที่เข้าไปในบ้านเกิดเหตุในช่วงเวลาดึกประมาณเที่ยงคืนถึงหนึ่งนาฬิกาเช่นนี้ จึงถือได้ว่าเป็นการเข้าไปในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยยังคงอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเหตุตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยจะมาเปลี่ยนเสื้อผ้าและเอาวิทยุสื่อสารนั้น ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วม ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

รวบรวม

ทนายสถิตย์ อินตา

โทร. 083- 5681148

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

โทรปรึกษา ฟรี!
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!