เอาทรัพย์ไปจากความครอบครองของผู้ลักทรัพย์อีกต่อหนึ่ง

Published by ทนายสถิตย์ อินตา on

เอาทรัพย์ไปจากความครอบครองของผู้ลักทรัพย์อีกต่อหนึ่ง

เอาทรัพย์ไปจากความครอบครองของผู้ลักทรัพย์อีกต่อหนึ่ง

คำถาม การเอาทรัพย์ไปจากความครอบครองของผู้ลักทรัพย์อีกต่อหนึ่งโดยทุจริตจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ ?

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ผู้ใดลักทรัพย์

          (1) ในเวลากลางคืน

          (2) ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะอื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกันหรืออาศัยโอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัวภยันตรายใด ๆ

          (3) โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใด ๆ

          (4) โดยเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า หรือเข้าทางช่องทางซึ่งผู้เป็นใจเปิดไว้ให้

          (5) โดยแปลงตัวหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่น มอมหน้าหรือทำด้วยประการอื่นเพื่อไม่ให้เห็นหรือจำหน้าได้

          (6) โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน

          (7) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป

          (8) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ในสถานที่นั้น ๆ

          (9) ในสถานที่บูชาสาธารณะ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ สาธารณสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า หรือในยวดยานสาธารณะ

          (10) ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์

          (11) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง

          (12) ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น

          ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

          ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราดังกล่าวแล้วตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

          ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

          ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรานี้ เป็นการกระทำโดยความจำใจหรือความยากจนเหลือทนทาน และทรัพย์นั้นมีราคาเล็กน้อย ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ก็ได้

คำตอบ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1785/2554

คำพิพากษาย่อสั้น : ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และ 335 นั้น เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กล่าวคือ เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในทางอาญา และเป็นละเมิดในทางแพ่ง ผู้ที่ลักทรัพย์ไปต้องคืนหรือต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คือราคาทรัพย์สินและค่าเสียหาย ผู้ที่ลักทรัพย์ไปจึงมีสิทธิครอบครองดูแลทรัพย์สินที่ลักไปไว้เพื่อคืนแก่ผู้เสียหาย

การที่จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจาก ส. โดยทุจริต แม้ ส. จะเป็นผู้ที่ลักทรัพย์มาจากผู้เสียหายอีกต่อหนึ่ง ก็ถือว่าจำเลยเป็นผู้แย่งการครอบครองไปจาก ส. การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หาใช่เป็นความผิดฐานรับของโจรไม่

คำพิพากษาย่อยาว :

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคแรก ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 18 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 (เดิม) วางโทษจำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์อยู่บ้าง นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลย จำเลยมิได้กระทำความผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาหรือไม่ จำเลยฎีกาประการแรกว่า มิได้เอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพรนั้น เห็นว่า นายสุทธิพรยืนยันว่าไม่ยินยอมให้จำเลยกับพวกเอารถจักรยานยนต์ไป คำเบิกความของนายสุทธิพรสมเหตุผลเพราะนายสุทธิพรลักทรัพย์รถจักรยานยนต์เพื่อไปขับแข่ง แต่ยังไม่ทันขับแข่งตามความประสงค์ก็ถูกเอาไป จึงเชื่อว่าจำเลยกับพวกแย่งการครอบครองรถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพร การที่จำเลยร่วมเดินทางไปกับนายอรรถสิทธิ์และนายท็อป แม้นายอรรถสิทธิ์จะเป็นผู้เอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพรขับเป็นคนแรก แต่ต่อมาในวันเดียวกันในเวลาไม่นานนักจำเลยก็นำรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปขับ และครอบครองตลอดมาจนเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมรถจักรยานยนต์ เป็นเวลาหลังจากเอาไปแล้วเกือบ 8 เดือน หากจำเลยมิได้เอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพร แต่ขอยืมจากนายอรรถสิทธิ์จริง จำเลยก็ควรคืนรถจักรยานยนต์ให้แก่นายอรรถสิทธิ์หรือไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจ แม้จะมีการแต่งรถเพื่อแข่งจริงก็ตาม จำเลยก็แจ้งได้ว่ามิได้เป็นผู้ดัดแปลงรถจักรยานยนต์ มิใช่ครอบครองและใช้ตลอดมา โดยถอดแผ่นป้ายทะเบียนออก ซึ่งถือเป็นข้อพิรุธแสดงถึงความไม่บริสุทธิ์ของจำเลยประการหนึ่งเพราะรถจักรยานยนต์ดังกล่าวจดทะเบียนและมีแผ่นป้ายทะเบียนแล้ว และติดแผ่นป้ายทะเบียนอยู่ในขณะที่จำเลยเอาไป ที่จำเลยอ้างว่าเพื่อนของจำเลยเป็นคนถอดแผ่นป้ายออกนั้น ก็เป็นการเบิกความลอย ๆ ไม่ปรากฏว่าเพื่อนจำเลยคนใดเป็นคนถอดออก จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง เชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ถอดแผ่นป้ายทะเบียนออกเอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพรโดยนายสุทธิพรไม่ยินยอม จึงเป็นการเอาไปโดยทุจริต คงมีข้อวินิจฉัยต่อไปว่า การที่จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพรที่ลักทรัพย์มาจากผู้เสียหายอีกต่อหนึ่งโดยทุจริตจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และ 335 เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กล่าวคือเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในทางอาญาและละเมิดในทางแพ่ง เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา กฎหมายให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาคืนแทนผู้เสียหายด้วย หากพนักงานอัยการไม่เรียกให้ ผู้เสียหายก็มีสิทธิที่จะฟ้องทางแพ่งจากผู้ที่ลักทรัพย์ไปได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43,44 และ 45 เพื่อให้ผู้ลักทรัพย์คืนทรัพย์สินที่ลักไปพร้อมค่าเสียหาย หากไม่สามารถคืนได้อาจเป็นเพราะทรัพย์สินสูญหายหรือบุบสลายเสียหายไปจนใช้การไม่ได้ ผู้ที่ลักทรัพย์ไปก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คือราคาทรัพย์สินและค่าเสียหาย ดังนั้นผู้ที่ลักทรัพย์ไปจึงมีสิทธิครอบครองดูแลทรัพย์สินที่ลักไปไว้เพื่อคืนแก่ผู้เสียหายเพราะถ้าทรัพย์สินสูญหายหรือบุบสลายก็จะต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในทางแพ่งดังกล่าว การที่จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพรโดยทุจริต แม้เป็นการเอาไปจากการครอบครองของนายสุทธิพรที่ลักทรัพย์มาจากผู้เสียหายอีกต่อหนึ่ง จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ คงมีข้อวินิจฉัยต่อไปว่า สมควรลงโทษจำเลยสถานเบาหรือไม่ เห็นว่า จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีมาโดยตลอด หาได้สำนึกในการกระทำแต่อย่างใด การที่ศาลล่างทั้งสองมีความเห็นต้องกันที่ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสาม และลดโทษให้อีกหนึ่งในสามนับว่าเป็นประโยชน์แก่จำเลยมากแล้ว ไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

รวบรวม

ทนายสถิตย์ อินตา

โทร. 083- 5681148

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

โทรปรึกษา ฟรี!
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!