ภริยาทำสัญญาค้ำประกันกับธนาคาร

Published by law_admin on

ภริยาทำสัญญาค้ำประกันกับธนาคาร

ภริยาทำสัญญาค้ำประกันกับธนาคาร สามีไม่รู้เห็นหรือยินยอม สามีฟ้องเพิกถอนสัญญาค้ำประกันนั้นได้หรือไม่ ?

คำตอบ คือ ไม่สามารถฟ้องเพิกถอนสัญญาค้ำประกันนั้นได้

           เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4046/2535 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2528 นางนิดาภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ได้ทำสัญญาเข้าเป็นผู้ค้ำประกันสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของนางสาวสุวารี คุ้มเมฆ ในวงเงิน 300,000บาท ไว้แก่จำเลย โดยนำบัญชีเงินฝากประเภทฝากประจำวางไว้เป็นหลักประกัน ซึ่งเงินฝากตามบัญชีดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนางนิดา ในการทำสัญญาค้ำประกันนั้น โจทก์มิได้ให้ความยินยอม ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2529 นางนิดาถึงแก่กรรม การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ได้บอกล้างสัญญาค้ำประกันแล้ว ขอให้เพิกถอนสัญญาค้ำประกัน

           จำเลยให้การว่า จำเลยตกลงทำสัญญาค้ำประกันด้วยความสุจริตตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคารพาณิชย์ โจทก์ทราบถึงการทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2528 อันเป็นวันทำสัญญาแล้วและได้ให้สัตยาบัน โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิบอกเลิกหรือเพิกถอนสัญญาค้ำประกันภายใน 1 ปี นับแต่วันทราบ สัญญาค้ำประกันยังผูกพันนางนิดา ขอให้ยกฟ้อง

           ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาค้ำประกันการจำนำเงินฝากประจำฉบับลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2528 ระหว่างจำเลยกับนางนิดา

จำเลยอุทธรณ์

           ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนเฉพาะสัญญาจำนำที่นางนิดานำบัญชีเงินฝากประเภทฝากประจำประกันไว้แก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

           ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาค้ำประกันฉบับลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2528 ระหว่างนางนิดาผู้ค้ำประกันกับจำเลยโดยแนบสำเนาสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสัญญาค้ำประกันและบันทึกการจำนำเงินฝากประจำมาท้ายฟ้องและนำสืบสัญญาและบันทึกดังกล่าวไว้ด้วยตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งมีบันทึกการจำนำเงินฝากประจำต่อท้ายเอกสารหมาย จ.4แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าสัญญาค้ำประกันที่นางนิดาทำไว้แก่จำเลยเป็นนิติกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการจัดการสินสมรส โจทก์ไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนก็ตาม แต่ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาค้ำประกันที่นางนิดาทำไว้แก่จำเลยหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งปัญหาดังกล่าวเกิดจากข้อเท็จจริงที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในฟ้องและจากการนำสืบของโจทก์ด้วย จึงเป็นข้อเท็จจริงในกระบวนพิจารณาโดยชอบ แม้ไม่ใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นจำเลยก็มีสิทธิอุทธรณ์เป็นประเด็นขึ้นมาได้ในชั้นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ส่วนปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอเพิกถอนสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.3หรือไม่นั้น เห็นว่าสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.3 ระบุว่านางนิดาเป็นผู้ค้ำประกันผู้กู้ยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีของนางสาวสุวารีผู้กู้จนกว่าจำเลยผู้ให้กู้จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง โดยตกลงยินยอมเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้กู้ถ้าผู้กู้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญากู้นั้นทันที เป็นสัญญาที่นางนิดายอมผูกพันตนต่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของนางสาวสุวารีเพื่อชำระหนี้เมื่อนางสาวสุวารีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้จึงเป็นสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 ซึ่งผูกพันตัวนางนิดาที่จะต้องรับผิดต่อจำเลยหากนางสาวสุวารีไม่ชำระหนี้มิได้เกี่ยวกับสินสมรสและมิใช่เป็นการจัดการสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่มาตรา 1476,1477 ที่โจทก์ซึ่งเป็นสามีจะต้องให้ความยินยอมร่วมกันเป็นหนังสือตามมาตรา 1479 แต่อย่างใด โจทก์จึงขอให้เพิกถอนสัญญาค้ำประกันดังกล่าวตามมาตรา 1480 ไม่ได้

พิพากษายืน

 

รวบรวมโดยทนายสถิตย์ อินตา

โทร. 083-568-1148

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!