ค่าขาดไร้อุปการะจากการทำให้ลูกตาย
ค่าขาดไร้อุปการะจากการทำให้ลูกตาย
อุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดและเกิดโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วสิ่งหนึ่งที่เป็นผลพวงตามมาคือ “ความเสียหาย” และผลกระทบที่เกิดจากอุบัติเหตุเหล่านั้น แน่นอนว่าผลกระทบและความเสียหายนี้ย่อมมากบ้าง น้อยบ้าง ตามสภาพและความรุนแรงของเหตุการณ์แต่ละครั้ง แต่หากรุนแรงถึงขนาดทำให้คนเสียชีวิตแล้ว บุคคลที่จะได้รับความเสียหายและผลกระทบคนหนึ่งนั้น คือ บิดา มารดาของผู้เสียชีวิตที่จะขาดคนมาคอยเลี้ยงดู
ปัญหาคือ ถ้าหากบุตรที่เสียชีวิตไม่ได้มีอาชีพและรายได้ที่มากนักจนอาจจะไม่ค่อยมีมาจุนเจือบิดามารดาของตน แล้วแบบนี้บิดามารดาจะมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากคนที่ทำให้บุตรเสียชีวิตในส่วนนี้หรือไม่ หรือหากจะได้จะคิดกันอย่างไรและได้มากน้อยเพียงใดในเมื่อปกติบุตรที่เสียชีวิตเองก็ไม่ค่อยได้ส่งเสียให้บิดามารดาสักเท่าใด ?
ดังนั้น ในวันนี้สำนักงานเราจะเอาคดีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงเอามาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกัน เรื่องมีอยู่ว่า “…..วันหนึ่งขณะที่ “นายดวงซวย” ขับรถกระบะไปส่งสินค้าให้กับนายจ้าง ขณะที่รถกำลังแล่นไปด้วยความเร็วพอสมควรถึงบริเวณใกล้สี่แยกแห่งหนึ่ง ไฟจราจรกำลังเปลี่ยนเป็นสีแดง แต่ด้วยความเร่งรีบของนายดวงซวยคิดว่าเพิ่งเปลี่ยนเป็นไฟแดงได้นิดเดียวคงไม่เป็นอะไรถ้าจะขับรถต่อไปจะได้ไม่ต้องหยุดให้เสียเวลา นายดวงซวยจึงไม่ได้หยุดรถ ปรากฏว่าขณะที่รถกำลังผ่านสี่แยก รถจักรยานยนต์ของ “เด็กชายโชคร้าย” วิ่งผ่านมาพอดีด้วยความที่ได้สัญญาณไฟเขียว โดยเด็กชายโชคร้ายเองก็ไม่ได้คาดคิดว่าจะมีรถฝ่าไฟแดงมา ทำให้รถของนายดวงซวยชนรถจักรยานยนต์ของเด็กชายโชคร้ายพอดี เด็กชายโชคร้ายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ก่อนเสียชีวิต เด็กชายโชคร้ายเป็นเพียงเด็กนักเรียน ยังไม่ได้ทำอาชีพการงาน ดังนั้น พ่อแม่ของเด็กชายโชคร้ายจะมาฟ้องให้นายดวงซวยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งค่าขาดไร้อุปการะ ได้หรือไม่…”
ปัญหาในคดีลักษณะนี้ในความเป็นจริงมีหลายเรื่องหลายปัญหา แต่คงนำมากล่าวถึงทั้งหมดในที่นี่ไม่ได้ แต่จะขอนำเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับการเรียกค่าขาดไร้อุปการะมากล่าวถึงเท่านั้น
เรื่องของค่าอุปการะนี้คงเป็นเรื่องระหว่างพ่อแม่กับลูกที่เมื่อยามลูกยังเล็ก พ่อแม่ก็เป็นคนเลี้ยงดูลูก พอลูกเติบใหญ่ในสังคมไทย ๆ ของเราเน้นย้ำเรื่องความกตัญญูที่ลูกพึงมีต่อพ่อแม่มาตลอด กฎหมายเองก็ตระหนักดีถึงหน้าที่นี้ เมื่อกฎหมายกำหนดให้ลูกมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่ ดังนั้น การที่มีบุคคลภายนอกมาทำให้ลูกเสียชีวิตอย่างเช่นกรณีของนายดวงซวยที่ขับรถชนเด็กชายโชคร้ายจนทำให้เสียชีวิตจึงมีผลโดยตรงที่กระทบถึงสิทธิตามกฎหมายของพ่อแม่ของเด็กชายโชคร้ายในอันที่จะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากเด็กชายโชคร้าย ส่วนการที่เด็กชายโชคร้ายจะเลี้ยงดูพ่อแม่ของตนในความเป็นจริงมากน้อยเพียงใดนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง แม้ว่าในความเป็นจริงว่าในขณะตายนั้นเด็กชายโชคร้ายจะเป็นเพียงเด็กนักเรียน ยังไม่ได้ประกอบอาชีพก็ตาม
ส่วนเรื่องจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่พ่อแม่ของเด็กชายโชคร้ายจะได้รับเป็นจำนวนเท่าใดนั้นเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องพิจารณากำหนดจากพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำละเมิดที่เกิดขึ้น โดยอาจต้องคำนึงตั้งแต่อายุของพ่อแม่และความเป็นไปได้ของระยะเวลาที่จะได้รับการอุปการะเลี้ยงดู
การละเมิดหรือการทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะด้วยการจงใจทำให้เกิดขึ้นหรือเกิดจากความประมาทเลินเล่อก็แล้วแต่ ผู้กระทำย่อมต้องรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายที่ตนเองก่อให้เกิดขึ้น ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดกับใครก็ตาม เมื่อทำให้ลูกของคนอื่นเสียชีวิต พ่อแม่ย่อมต้องเสียหายโดยสภาพ ค่าขาดไร้อุปการะจึงเป็นค่าสินไหมทดแทนประเภทหนึ่งที่ผู้ทำละเมิดต้องรับผิดชดใช้เช่นกันไม่ว่าลูกนั้นจะได้ส่งเสียเลี้ยงดูพ่อแม่อยู่ในความเป็นจริงหรือไม่
เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5553/2562 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1563 บัญญัติไว้ว่า บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ทั้งสองตาย ถือว่าโจทก์ทั้งสองขาดไร้อุปการะตามกฎหมายจากบุตร โจทก์ทั้งสองจึงชอบที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะทั้งในปัจจุบันและความหวังในอนาคตโดยผลแห่งกฎหมาย
โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าขณะเกิดเหตุหรือในอนาคตผู้ตายจะได้อุปการะโจทก์ทั้งสองจริงหรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใด
แม้พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับรายได้ของผู้ตายไม่ชัดเจน ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองได้
ทนายสถิตย์ อินตา
โทร. 083-568-1148
ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers
สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ