สัญญาก่อนสมรส
Published by law_admin on
สัญญาก่อนสมรส
ในยุคปัจจุบันอัตราการแต่งงานของประชาชนคนไทยเริ่มลดลง สืบเนื่องมาจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ทัศนะคติในการใช้ชีวิตและค่านิยมต่างๆของหนุ่มสาวยุคใหม่ได้เปลี่ยนไป กลายมาเป็นภาพ “หนุ่มสาวยุคใหม่” ที่ต้องมุ่งหน้าทำงานหารายได้ให้มากขึ้น ต้องการเจริญเติบโตและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ส่งผลให้เกิดสภาวะการสมรสที่ลดลง หรือการชะลอการสมรส จากแนวโน้วการสมรสที่ลดลงทำให้ครองโสดยาวนานขึ้น ซึ่งในระหว่างการครองโสดนั้นบางคนอาจจะสร้างเนื้อสร้างตัว มีบ้าน มีรถ ทรัพย์สินเงินทองมากมายก่อนที่จะมาพบคนรักในวัยที่อายุมากขึ้น ซึ่งเมื่อความรักได้ก่อตัวขึ้นไม่มีคู่รักคู่ไหนคิดว่าความรักครั้งนี้จะจบลง ทรัพย์สินของเราที่หามาได้ระหว่างครองโสดก็เหมือนทรัพย์สินของเขา ไม่ได้มีการตกลงเรื่องทรัพย์สินกันก่อนที่จะทำการสมรส ทำให้เมื่อความรักมันจืดจางลงเกิดปัญหาการหย่าร้างและการแบ่งทรัพย์สินสมรสที่ไม่ลงตัว
การใช้ชีวิตคู่ไม่มีอะไรที่แน่นอน จะดีได้กว่าไหมถ้าก่อนสมรสเราได้การตกลงกันเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินก่อนตกลงใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งสัญญาทางกฎหมายที่คู่รักจะต้องตกลงลงผูกพันในสัญญาก่อนเข้าสู่การสมรสตามกฎหมาย เรียกว่า “สัญญาก่อนสมรส”
ทำไมถึงต้องทำสัญญาก่อนสมรส?
เพื่อเป็นการจัดให้มีการกำหนดในเรื่องทรัพย์สินของคู่สมรสก่อนที่จะทำการสมรสกันตามกฎหมาย กล่าวคือเมื่อคู่สมรสหย่าขาดจากกัน สินสมรสระหว่างสามีภรรยา จะถูกแบ่งตามที่คู่สมรสได้ตกลงกันไว้ในสัญญาก่อนสมรสนั่นเอง เช่น ตกลงกันเรื่องค่าเช่าพื้นที่ของฝ่ายหญิงที่มีก่อนสมรส ให้ตกเป็นของฝ่ายหญิงแต่เพียงผู้เดียว หรือตกลงกันเรื่องเงินฝากในบัญชีธนาคารซึ่งเป็นสินส่วนตัว ให้ตกเป็นสินสมรส หรือตกลงกันเรื่องทรัพย์สินโรงงานผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ ที่ฝ่ายชายทำ ให้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายชายทั้งหมด ฯ
สัญญาก่อนสมรสที่ถูกต้องและมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1.สามารถกระทำได้โดยจะต้องจดแจ้งข้อตกลงไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส
2.เป็นสัญญาที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรและลงนามโดยคู่สมรสทั้งสองฝ่าย
3.ต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คน
4.สัญญาดังกล่าวจะต้องแนบเข้ากับใบสำคัญการสมรสที่มีการจดทะเบียนสมรส
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาก่อนสมรส
การขอเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาก่อนสมรสสามารถกระทำได้โดยต้องได้รับอนุญาตจากศาล ซึ่งคู่สมรสจะต้องยินยอมทั้ง 2 ฝ่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1467
สรุป คู่สมรสที่ต้องการทำสัญญาก่อนสมรสอาจทำได้โดยการจดแจ้งสัญญาก่อนสมรสนั้นไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือโดยการทำเป็นหนังสือสัญญาก่อนสมรสลงลายมือชื่อคู่สมรสพร้อมทั้งจดแจ้งต่อนายทะเบียนไว้ในทะเบียนสมรสในขณะจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญาก่อนสมรสนั้นแนบไว้ก็ได้
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1465 ถ้าสามีภริยามิได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรสความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินนั้นให้บังคับตามบทบัญญัติในหมวดนี้
ถ้าข้อความใดในสัญญาก่อนสมรสขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือระบุให้ใช้กฎหมายประเทศอื่นบังคับเรื่องทรัพย์สินนั้น ข้อความนั้นๆ เป็นโมฆะ
มาตรา 1466 สัญญาก่อนสมรสเป็นโมฆะถ้ามิได้จดแจ้งข้อตกลงกันเป็นสัญญาก่อนสมรสนั้นไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือมิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อยสองคนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส และได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญานั้นแนบไว้
มาตรา 1467 เมื่อสมรสแล้วจะเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสนั้นไม่ได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากศาล
เมื่อได้มีคำสั่งของศาลถึงที่สุดให้เปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสแล้ว ให้ศาลแจ้งไปยังนายทะเบียนสมรสเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียนสมรส
มาตรา 1468 ข้อความในสัญญาก่อนสมรสไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต ไม่ว่าจะได้เปลี่ยนแปลงเพิกถอนโดยคำสั่งของศาลหรือไม่ก็ตาม
พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย
มาตรา 22 ถ้ามิได้มีสัญญาก่อนสมรส ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติ ถ้าสามีและภริยามีสัญชาติแตกต่างกัน ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติแห่งสามี อย่างไรก็ดี ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ในส่วนที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6711/2537
การที่โจทก์จำเลยทำความตกลงในเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา โดยจำเลยให้สัญญาว่าบ้านพร้อมที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยให้เป็นสินสมรส จึงเป็นกรณีที่คู่สมรสจดแจ้งข้อความอันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อความขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมมีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1465 วรรคสอง
ทนายสุกฤษฏิ์ เจริญสมบัติ
086-8472297
ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers
สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ
แชร์หน้านี้ !!