ห้ามลูกจ้างลาออกไปทำธุรกิจแข่งนายจ้างเดิมได้หรือไม่

Published by law_admin on

ห้ามลูกจ้างลาออกไปทำธุรกิจแข่งนายจ้างเดิมได้หรือไม่
ห้ามลูกจ้างลาออกไปทำธุรกิจแข่งนายจ้างเดิมได้หรือไม่

ห้ามลูกจ้างลาออกไปทำธุรกิจแข่งนายจ้างเดิมได้หรือไม่

          ในการทำงานนั้นหลายครั้งที่ลูกจ้างมักจะได้รู้เห็นข้อมูลหรือความลับทางการค้าจากนายจ้างโดยเฉพาะพนักงานกลุ่ม (เซลส์) ดังนั้น นายจ้างหลายบริษัทจึงใช้วิธีการให้พนักงานนั้นทำข้อตกลงหรือทำสัญญาจ้างว่าหากตนถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากบริษัทจะไม่ไปประกอบอาชีพแข่งขันกับธุรกิจของนายจ้าง ข้อตกลงลักษณะนี้อาจมองได้หลายแง่มุม มุมหนึ่งก็ว่าเป็นการจำกัดสิทธิของลูกจ้าง และในอีกทางหนึ่งอาจจำเป็นต่อการรักษาผลประโยชน์ของบริษัทนายจ้างเช่นกัน ฉะนั้น ในวันนี้สำนักงานฯ เราจะเอาเรื่องนี้มาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาไปร่วมกัน ดังนี้

          คดีนี้มีอยู่ว่า นายคนดี เป็นพนักงาน(เซลส์) ของบริษัท เอบีซี รับเบอร์ จำกัด โดยเข้าไปทำงานที่บริษัทดังกล่าวตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี บริษัท เอบีซี รับเบอร์ จำกัด มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในธุรกิจเทรดดิ้ง    (ธุรกิจซื้อมาขายไป) ในผลิตภัณฑ์ยางฉนวนกันไฟฟ้า กล่าวคือ มีลักษณะประกอบธุรกิจคือเมื่อมีลูกค้าสั่งสินค้า บริษัทก็จะไปว่าจ้างโรงงานให้ผลิตสินค้านั้นขึ้นมา ระหว่างการทำงาน บริษัท เอบีซี รับเบอร์ จำกัด ได้ส่งนายคนดีไปฝึกอบรมเพิ่มทักษะหลาย ๆ ซึ่งคนนายคนดีนั้นได้ทำงานอยู่กับบริษัทมาเป็นเวลาประมาณ 10 ปี จนหน้าที่ตำแหน่งงานเติบโตเป็นหัวหน้าฝ่ายขาย (หัวหน้าเซลส์)

          ต่อมา บริษัท เอบีซี รับเบอร์ จำกัด ทราบข่าวว่านายคนดีตั้งใจจะลาออกจากบริษัท ผู้บังคับบัญชาของนายคนดีจึงได้เรียกไปพบและให้ลงชื่อใน “บันทึกข้อตกลงการทำงานและการอบรมการทำงาน” ซึ่งมีใจความว่านายคนดีตกลงที่จะไม่ไปทำงานในบริษัทของคู่แข่งหรือทำกิจการที่เป็นการแข่งขันกับบริษัท เอบีซี รับเบอร์ จำกัด โดยตรงเป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันที่พ้นสภาพความเป็นพนักงานของบริษัท

          หลังจากนั้นไม่นาน นายคนดีก็ได้ยื่นใบลาออกและได้ไปก่อตั้งบริษัทใหม่ชื่อว่า บริษัท เอบีซี รับเบอร์     เทรดดิ้ง จำกัด โดยมุ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับเทรดดิ้งอย่างเดียวกับบริษัท เอบีซี รับเบอร์ จำกัด ที่ทำอยู่ โดยนายคนดีมีชื่อเป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวด้วย ดังนั้น เมื่อบริษัท เอบีซี รับเบอร์ จำกัด ทราบเรื่องการตั้งบริษัทใหม่นั้นเนื่องจากมีลูกค้าบางคนแจ้งให้ทราบว่านายคนดีติดต่อเสนอทำงานให้ในราคาถูกกว่าบริษัท เอบีซี รับเบอร์ จำกัด และยังแจ้งกับลูกค้าอีกว่าใช้โรงงานที่ผลิตสินค้าเดียวกันอีกด้วย

          บริษัท เอบีซี รับเบอร์ จำกัด จึงได้ฟ้องนายคนดีเรียกร้องค่าเสียหายจากการผิดบันทึกข้อตกลงห้ามแข่งขัน โดยนายคนดีต่อสู้ว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้ เนื่องจากเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่ไปห้ามมิให้ประกอบอาชีพที่ตนถนัด ?

          เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้ว ถ้าท่านผู้อ่านเป็นบริษัท เอบีซี รับเบอร์ จำกัด คิดเห็นอย่างไร หรือถ้าท่านผู้อ่านเป็นนายคนดีละมีความเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้ !!!!!!!!!!!!

          ฉะนั้น ท่านผู้อ่านต้องเข้าใจก่อนว่าข้อตกลงที่มีลักษณะของการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงาน หรือการทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพนั้น ไม่เป็นผลถึงขนาดว่าเป็นโมฆะ แต่เป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ กฎหมายกำหนดให้ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

          ฉะนั้น กรณีที่จะถือว่าข้อตกลงใดเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมนั้นจะต้องดูจากพฤติการณ์ของแต่ละกรณีประกอบกันไปด้วย เพราะสภาพของคู่สัญญาและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับแต่ละกรณีอาจมีความแตกต่างกัน แต่สำหรับกรณีของนายคนดีนี้ในระหว่างทำงาน บริษัท เอบีซี รับเบอร์ จำกัด ได้ส่งไปฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะซึ่งต้องใช้เงินพอสมควร เปรียบเสมือนการลงทุนของบริษัทด้วย หากฝึกอบรมแล้วกลับนำความรู้และทักษะดังกล่าวไปใช้ทำประโยชน์ให้กับคู่แข่งย่อมทำให้บริษัท เอบีซี รับเบอร์ จำกัด เสียหาย ประกอบกับนายคนดียังมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการขาย ทำให้รู้จักกับลูกค้าของบริษัท เอบีซี รับเบอร์ จำกัด เป็นอย่างดี ข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าก็ถือเป็นข้อมูลทางธุรกิจที่มีค่าสำหรับธุรกิจทั้งหลายเช่นกัน เพราะการที่บริษัทจะประกอบธุรกิจสร้างรายได้ได้ก็ต้องอาศัยลูกค้าเหล่านี้ หากธุรกิจถูกดึงลูกค้าไปหมดโดยการฉวยโอกาสอาศัยข้อมูลจากที่รู้มาในระหว่างการทำงานให้แก่นายจ้างก็ทำให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างไม่น้อยเช่นกัน

          ดังนั้น ข้อตกลงกำหนดห้ามไม่ให้นายคนดีทำงานที่เป็นการแข่งขันกับธุรกิจบริษัท เอบีซี รับเบอร์ จำกัด เป็นเวลา 2 ปี จึงพอถือได้ว่าแม้จะสร้างภาระ แต่เวลาที่จำกัดเพียงสองปีแล้วหลังจากนั้นนายคนดีสามารถทำการแข่งขันกับนายจ้างเดิมได้ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่พอสมควรกับการทำงานลักษณะนี้ ฉะนั้น คนดีจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบริษัท เอบีซี รับเบอร์ จำกัด

         ****คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3597/2561   บันทึกข้อตกลงการทำงานและการอบรมการทำงาน แม้เป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของจำเลยทั้งสองในการประกอบอาชีพ แต่คงห้ามเฉพาะไม่ให้ไปทำงานในบริษัทคู่แข่งหรือไม่ไปทำงานกับบริษัทอื่นใดที่ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันกับโจทก์ รวมทั้งไม่ทำการใดอันเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของโจทก์เฉพาะที่อาศัยข้อมูลทางการค้า อันเป็นความลับทางการค้าของโจทก์ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ตลอดจนไม่กระทำหรือช่วยเหลือหรือยินยอมให้บุคคลใดกระทำการดังกล่าวตลอดระยะเวลาของสัญญานี้และภายในกำหนดระยะเวลาสองปีนับแต่สัญญานี้สิ้นสุดลงเท่านั้น มิได้เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งสองโดยสิ้นเชิง ตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยทั้งสองมีโอกาสนำข้อมูลความลับทางการค้าของโจทก์ไปใช้ในการประกอบอาชีพ ซึ่งอาจทำให้โจทก์ต้องเสียประโยชน์ทางการค้าประกอบกับเมื่อคำนึงถึงทางได้เสียทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้ว การจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งสองอันเป็นการแข่งขันกับโจทก์เป็นระยะเวลาเพียงสองปีนับแต่วันทำสัญญานี้สิ้นสุด ไม่ทำให้จำเลยทั้งสองผู้ถูกจำกัดสิทธิต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จำเลยทั้งสองยังประกอบอาชีพอื่น ๆ ได้โดยไม่มีข้อจำกัด จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

ทนายสถิตย์ อินตา

083-5681148

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!