อยู่คอนโด แต่ไม่อยากจ่ายค่าส่วนกลาง…ทำได้หรือไม่ ?
อยู่คอนโด แต่ไม่อยากจ่ายค่าส่วนกลาง…ทำได้หรือไม่ ?
ปัจจุบันเมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลงประกอบกับรูปแบบการใช้ชีวิตที่อยากอยู่ไกล้ที่ทำงานในเมืองมากขึ้น ทำให้หลายๆ คนเลือกที่อยู่อาศัยเป็นประเภทคอนโดมิเนียมมากขึ้น เพราะเดินทางสะดวกไม่ต้องทนรถติดเป็นเวลานาน แต่ก็มีลูกความหลายคนที่มักจะโทรมาปรึกษาผมเสมอว่า ถ้าไม่จ่ายค่าส่วนกลางจะทำได้หรือไม่? บางคนก็ให้เหตุผลว่านิติบุคคลอาคารชุดบริหารไม่ดี บางคนก็บอกว่าตัวเองซื้อไว้ลงทุนไม่ได้ไปพักอาศัย และบางคนหนักถึงขั้นไม่อยากจ่ายเฉยๆ ก็มี
ฟังดูแล้วท่านผู้อ่านคงคิดเหมือนกันว่าคนถามคงเป็นพวกเห็นแก่ตัว ที่ไม่ยอมรับเงื่อนไขที่โครงการกำหนด หรือที่ประชุมนิติบุคคลอาคารชุดได้ตกลงกันไว้
แต่เรื่องแบบนี้ผมในฐานะทนายความขอบอกว่า มันมีบางคนเขาก็ไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าทำไมต้องจ่าย ในเมื่อไม่ได้ใช้งานหรือบริการ ดังนั้น ในวันนี้ผมจึงจะเอาประเด็นว่า “…อยู่คอนโด แต่ไม่อยากจ่ายค่าส่วนกลาง จะทำได้หรือไม่ ?” มาเล่าให้ทุกท่านได้อ่านกัน
ประการแรก : ต้องเข้าใจก่อนว่า การจ่ายเงินค่าส่วนกลางไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นหน้าที่ตามกฎหมาย
ส่วนกลาง หรือที่กฎหมายเรียกว่า “ทรัพย์ส่วนกลาง” เช่น ฟิตเนส ลิฟท์ สระว่ายน้ำ กล้องวงจรปิด ป้อมยาม หรือที่จอดรถ ฯลฯ นั้น
ตามพระราชบัญญัติอาคารชุดฯ มาตรา 18 กำหนดไว้ว่า “…เจ้าของร่วมมีหน้าที่ร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาและดำเนินการเกี่ยวกับส่วนกลาง ตามอัตราส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง…”
ดังนั้น เงินค่าส่วนกลางที่เจ้าของร่วมได้จ่ายไป ก็เพื่อนำมาบำรุงรักษา หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลรักษาทรัพย์สินเหล่านั้น เช่น ค่าจ้าง ร.ป.ภ. ค่าซ่อมลิฟท์ ค่าคลอรีนสระว่ายน้ำ ค่าไฟทาง และอื่น ๆ อีกสารพัด ฯลฯ
เพราะของพวกนี้หากไม่ดูแล มันก็จะทรุดโทรม ไม่น่ามอง และอนาคตหากเกิดอยากขาย หรือปล่อยเช่า ก็อาจจะทำได้ยาก เพราะนอกจากทำเลแล้ว ส่วนกลางนั้นถือว่าเป็นหน้าเป็นตาของคอนโดโครงการนั้นๆ เลยก็ว่าได้ หากส่วนกลางมีสภาพทรุดโทรมก็คงไม่มีใครอยากเป็นเจ้าของหรืออยากอยู่อาศัยอย่างแน่นอน
ประการที่สอง : แล้วไม่จ่ายค่าส่วนกลางได้หรือไม่ ?
คำตอบ อยู่ในประการข้อแรกแล้วว่าการจ่ายค่าส่วนกลางเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย ดังนั้น เจ้าของร่วมทุกคนต้องจ่าย
แต่อย่างไรก็ดีนั้น ก็ยังมีเจ้าของร่วมบางคนที่ไม่ยอมจ่ายค่าส่วนกลาง ทำให้กฎหมายได้กำหนดบทลงโทษกับบุคคลเหล่านี้ไว้ใน พระราชบัญญัติอาคารชุดฯ มาตรา 18/1 ว่า
“… 1. ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปีของจำนวนเงินที่ค้างชำระโดยไม่คิดทบต้น
2. หากค้างชำระตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี
3. อาจถูกระงับการให้บริการส่วนรวมหรือการใช้ทรัพย์ส่วนกลาง
4. ไม่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมใหญ่…”
โดยการดำเนินการตามข้อ 1-3 นั้นจะต้องระบุไว้ในข้อบังคับของนิติบุคคลจึงสามารถทำได้
และนอกจากนี้แล้ว ตามพระราชบัญญัติอาคารชุดฯ มาตรา 29 ก็ยังได้กำหนดบทลงโทษต่อไปอีกว่า ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จะรับจดทะเบียนทำนิติกรรมได้ก็ต่อเมื่อห้องชุดดังกล่าวไม่ติดค้างชำระค่าส่วนกลาง โดยเจ้าของร่วมต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้จากนิติบุคคลอาคารชุดมาแสดง ฉะนั้นจึงหมายความว่า หากเจ้าของร่วมยังค้างชำระค่าส่วนกลางอยู่ก็จะไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดได้นั่นเอง
สรุป : การจ่ายค่าส่วนกลางเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดให้เจ้าของร่วมต้องร่วมกันรับผิดชอบ ดังนั้น จะเลือกที่จะไม่จ่ายไม่ได้
สถิตย์ อินตา ทนายความ
ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers
สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ