การฟ้องเท็จคดีแพ่ง…จะมีความผิดฐานฟ้องคดีเท็จตาม ป.อ. อาญา หรือไม่

Published by law_admin on

การฟ้องเท็จคดีแพ่งจะมีความผิดฐานฟ้องคดีเท็จตาม ป.. อาญา หรือไม่ ?

         คำตอบ : การฟ้องเท็จในคดีแพ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดทางอาญาและการฟ้องกับการยื่นคำให้การในคดีแพ่ง ก็ไม่เป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1274/2513 การเอาความเท็จมาฟ้องในคดีแพ่งหรือการที่จำเลยในคดีแพ่งยื่นคำให้การเป็นเท็จ ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 เพราะมิได้เป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน และการที่โจทก์หรือจำเลยในคดีแพ่งแถลงให้ศาลจดข้อความอันเป็นเท็จลงในสำนวนคดีแพ่งโดยมิได้มีวัตถุประสงค์จะใช้ข้อความนั้นเป็นพยานหลักฐาน ก็หาเป็นความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ไม่

         ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การฟ้องความกับการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานเป็นการกระทำคนละประเภท การฟ้องความเป็นวิธีดำเนินการตามกระบวนวิธีพิจารณาความ ไม่ใช่เป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 คำให้การที่จำเลยยื่นต่อศาลก็เป็นวิธีดำเนินการตามกระบวนพิจารณาความเช่นกัน หาใช่เป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานไม่ ส่วนที่โจทก์หรือจำเลยในคดีแพ่งแถลงให้ศาลจดข้อความอันเป็นเท็จในรายงานพิจารณานั้น จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267 ผู้ที่แจ้งให้เจ้าพนักงานทำเช่นกัน

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 530/2515 คำร้องคัดค้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ยื่นต่อศาลเป็น คำคู่ความที่จำเลยที่ 2 ในฐานะทนายความของจำเลยที่ 1 ยื่นต่อศาลเพื่อตั้งประเด็นระหว่างโจทก์จำเลยในคดีนั้นแม้ว่าผู้พิพากษาจะเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ แต่การที่จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านนั้น ก็เป็นการยื่นคำคู่ความเพื่อตั้งประเด็นในการพิจารณาคดีของศาลหากจะรับฟังว่าข้อความตามคำร้องคัดค้านของจำเลยเป็นเท็จ ก็ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำเช่นนี้เป็นความผิดและจะนำมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้แก่กรณีเช่นนี้ก็ไม่ได้ เพราะประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่การยื่นคำคู่ความเพื่อตั้งประเด็นในการพิจารณาคดีของศาลดังกล่าวข้างต้น

         ส่วนข้อหาฐานหมิ่นประมาทนั้น เมื่อการยื่นคำร้องคัดค้านดังกล่าวเป็นการแสดงข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของจำเลยที่ 1 แม้ข้อความนั้นจะเป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์ กรณีก็ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 331 จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

         สรุป : ฟ้องคดีเท็จทางแพ่ง ไม่ถือว่าเป็นทางฟ้องเท็จตาม ป.. อาญา

         หมายเหตุ : แม้ว่าการฟ้องเท็จแพ่งจะไม่มีความผิดทางอาญา แต่การเบิกความเท็จต่อศาล อาจจะมีความผิดทางอาญาได้ในหลายข้อหา ดังนั้น ไปศาลต้องมีสะอาด


สถิตย์ อินตา ทนายความ

083-5681148

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!