พึ่งรู้ว่าตนเองถูกฟ้องหลังจากที่ศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว ทำอย่างไรดี

Published by law_admin on

พึ่งรู้ว่าตนเองถูกฟ้องหลังจากที่ศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว ทำอย่างไรดี
พึ่งรู้ว่าตนเองถูกฟ้องหลังจากที่ศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว ทำอย่างไรดี

พึ่งรู้ว่าตนเองถูกฟ้องหลังจากที่ศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว ทำอย่างไรดี?

         กรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ๆตามภาคต่างๆยังคงเป็นจังหวัดที่มีประชากรไทยพลัดถิ่นฐานจากบ้านเกิดบางคนเข้ามาเรียนต่อ เข้ามาทำงาน ส่งผลให้มีการย้ายถิ่นที่อยู่จากภูมิลำเนาเดิม มีลูกความหลายท่านสอบถามทางสำนักงานเข้ามาว่ามาทำงานที่กรุงเทพมหานคร หรือตามจังหวัดต่างๆ อยู่ดีๆมีหมายคำบังคับมาติดไว้บ้านที่ต่างจังหวัดว่าให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาหากไม่ปฏิบัติภายในกำหนดระยะเวลาจะต้องถูกยึดทรัพย์ ทั้งที่ตนเองไม่เคยไปศาลและไม่ทราบว่าตัวเองถูกฟ้องคดีมาก่อน  จะต้องทำอย่างไรดี? วันนี้ทางสำนักงานจะขออธิบายให้ท่านที่กำลังประสบปัญหาเหล่านี้ได้เจอแนวทางแก้ไข

         การที่มีหมายคำบังคับมาติดไว้ ณ ภูมิลำเนา หรือที่อยู่ตามทะเบียนราษฎ์ของท่าน คือ กรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี โดยขาดนัดพิจารณา(ท่านไม่ได้ไปศาล) แล้วต่อมาท่านซึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลยมาทราบภายหลังจากศาลตัดสินคดีแล้ว ซึ่งแนวทางแก้ไขในเรื่องนี้คือ “การขอพิจารณาคดีใหม่” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 จัตวา โดยทำเป็นคำร้องยื่นต้องศาลชั้นต้น ภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย ดังนี้

  • กรณีปกติ ให้ยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับส่งคำบังคับตามคำพิพากษา
  • กรณีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ ให้ยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่พฤติการณ์สิ้นสุดลง
  • อย่างไรก็ตาม ห้ามยื่นคำขอต่อศาลเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ยึดทรัพย์ หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษา หรือคำสั่งโดยวิธีอื่น แม้พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ยังไม่สิ้นสุดลง

          การบรรยายคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ต้องกล่าวโดยชัดแจ้ง ดังนี้

         – เหตุที่ท่าน(จำเลย)ขาดนัดยื่นคำให้การ

         – ข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล เพื่อแสดงให้เห็นว่า หากศาลให้พิจารณาคดีนั้นใหม่ ท่านอาจเป็นฝ่ายชนะ

         – ในกรณียื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ล่าช้า ให้แสดงเหตุแห่งการล่าช้านั้นด้วย

         เมื่อได้บรรยายเนื้อหาในคำร้องครบองค์ประกอบดังกล่าวข้างต้นแล้ว ศาลจะนัดทำการไต่สวนคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งเมื่อได้สวนคำร้องแล้ว ศาลเห็นว่ามีเหตุควรเชื่อว่า การขาดนัดยื่นคำให้การนั้น มิใช่เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร และศาลเห็นว่า เหตุผลที่อ้างมาในคำร้องนั้น ผู้ขออาจมีทางชนะคดีได้ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ ซึ่งมีผลทำให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล โดยที่ท่าน (จำเลย) ขาดนัดยื่นคำให้การ และคำพิพากษาหรือคำสั่งอื่นๆ ของศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา ในคดี การบังคับคดีที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันเพิกถอนไปในตัว  โดยศาลจะให้ท่าน(จำเลย)ยื่นคำให้การ ภายในกำหนดเวลาที่ศาลเห็นสมควร

         สรุป เมื่อท่านทราบว่าตนเองถูกฟ้องคดีหลังจากที่ศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว และต้องการเข้าต่อสู้คดี แนะให้ท่านรีบดำเนินการขอคัดถ่ายเอกสารในสำนวนต่อศาลที่ท่านถูกฟ้องคดี และติดต่อทนายความเพื่อดำเนินการยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ต่อไป

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

         มาตรา 199 จัตวา คำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใดๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้ว ในกรณีที่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ จำเลยนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ห้ามมิให้ยื่นคำขอเช่นว่านี้เมื่อพ้นกำหนด 6 เดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น

         คำขอตามวรรคหนึ่งให้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยได้ขาดนัดยื่นคำให้การและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล ที่แสดงให้เห็นว่าหากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ตนอาจเป็นฝ่ายชนะ และในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้า ให้แสดงเหตุแห่งการที่ล่าช้านั้นด้วย

คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2506

         ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีไปโดยจำเลยขาดนัด จำเลยร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อปรากฏว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดและศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาใหม่ คำสั่งนี้เป็นคำสั่งภายหลังเมื่อศาลพิพากษาแล้ว ฉะนั้น จึงไม่เป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณา โจทก์ย่อมอุทธรณ์ฎีกาได้

         การที่จำเลยไปอยู่ต่างประเทศโดยไม่ทราบว่าตนถูกฟ้องและถูกศาลพิพากษาให้แพ้คดี ย่อมถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่ไม่อาจบังคับได้ จำเลยจึงอาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6627/2544

         จำเลยเคยพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 213 จังหวัดชลบุรี ตามฟ้องและจำเลยมีที่อยู่ทางทะเบียน ณ บ้านดังกล่าวตลอดมา การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยรวมทั้งหมายนัดสืบพยานโจทก์ ส่งได้โดยวิธีปิดหมายไว้ ณ บ้านดังกล่าว แต่จำเลยไม่ได้อยู่อาศัยที่บ้านหลังนี้มากกว่า 10 ปีแล้ว โดยไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 518/136 กับ บ้านเลขที่ 81/6 และไปๆ มาๆ ระหว่างบ้าน 2 หลังนี้โดยไม่ได้กลับไปที่บ้านเลขที่ 213 อีกเลย แต่ยังมิได้ย้ายทะเบียนออกจากบ้านหลังนี้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยมีภูมิลำเนาหลายแห่ง ดังนี้ แม้การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและหมายนัดสืบพยานโจทก์ให้แก่จำเลยโดยการปิดหมายไว้ ณ บ้านเลขที่ 213 ดังกล่าว จะเป็นการส่งโดยชอบก็ตาม แต่ปัญหาว่าการส่งหมายเป็นไปโดยชอบหรือไม่กับปัญหาว่าจำเลยจงใจขาดนัดหรือไม่ เป็นคนละเรื่องกัน เมื่อจำเลยไม่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและหมายนัดสืบพยานโจทก์ และจำเลยไม่ทราบเรื่องที่ถูกฟ้องนี้ จึงไม่อาจถือว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา กรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้พิจารณาใหม่ตามคำขอของจำเลย

สุกฤษฏิ์ เจริญสมบัติ ทนายความ

086-8472297

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!