หุ้นกันทำอาคารพาณิชย์ แม้ไม่มีชื่อในโฉนดที่ดิน ก็ฟ้องแบ่งที่ดินได้

Published by law_admin on

หุ้นกันทำอาคารพาณิชย์ แม้ไม่มีชื่อในโฉนดที่ดิน ก็ฟ้องแบ่งที่ดินได้
หุ้นกันทำอาคารพาณิชย์ แม้ไม่มีชื่อในโฉนดที่ดิน ก็ฟ้องแบ่งที่ดินได้

หุ้นกันทำอาคารพาณิชย์ แม้ไม่มีชื่อในโฉนดที่ดิน ก็ฟ้องแบ่งที่ดินได้

          เกี่ยวกับหัวข้อเรื่องคลินิกกรรมการวันนี้ ผู้เขียนจะเอาความจริงในคดีเรื่องหนึ่งมาเล่าให้ทุกท่านฟ้ง มีลูกความผู้เขียนท่านหนึ่ง ให้นามสมมุติว่า “เฮียกวง” แกมีอาชีพซื้อที่ดินมาพัฒนาและขาย ซื้อมาแปลงใหญ่แล้วแบ่งขายเป็นแปลงเล็ก หรือ บางทีก็สร้างอาคารพาณิชย์ขาย มีอยู่โครงการหนึ่งแกก็ทำเหมือนโครงการก่อนๆ แต่โครงการนี้มีนายทุนสองผัวเมียคู่หนึ่งเห็นว่าที่ดินเป็นที่ดินทำเลทองและเห็นว่าเฮียกวงแกทำโครงการในลักษณะนี้สำเร็จมาแล้วหลายโครงการ จึงขอเข้าหุ้นกับเฮียกวงด้วย ซึ่งที่ดินทำเลทองนี้ เป็นที่ดินที่ติดกับมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในภาคอีสาน เนื้อที่ 19 ไร่ ทำเป็นหอพักได้ ที่สำคัญในระแวกใกล้เคียงไม่มีหอพักเลย เฮียกวงได้ไปเจรจาซื้อที่ดินแปลงนี้กับเจ้าของที่ คุยกันถูกคอเขาเลยตกลงจะขายให้เฮีย กวง 3 ล้าน แต่ราคาที่ดินจริงๆน่าจะราว ๆ 5 ล้าน เฮียกวงเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับเจ้าของที่ไว้ก่อน และ จ่ายเงินมัดจำไปแล้วด้วยแสนนึงส่วนที่เหลือ เฮียกวงบอกเจ้าของที่ว่าขอขายที่ดินโครงการอื่นได้เงินแล้วจะเอาไปจ่ายให้ และ ตกลงจ่ายเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน

          สองผัวเมียนั่นเห็นที่ดิน 19 ไร่ อยากได้ที่ดินจึงขอเข้าหุ้นกับเอียกวง บอกว่าเฮียจะใช้เงินทำโครงการเท่าไหร่ เขาจะออกเงินให้เองทั้งหมด ส่วนเฮียเป็นผู้ทำโครงการ ได้กำไรก็เอามาแบ่งกันตามส่วน เฮียส่วนหนึ่งผมสองคนอีกส่วนหนึ่ง เฮียกวงตกลงและวันนัดโอนที่ดิน และจะถึงคราวซอยของเฮียกวงอย่างไรไม่ทราบได้ แกปล่อยให้สองผัวเมียนั่นไปรับโอนที่ดินกับเจ้าของที่ดินเพียงลำพังตัวแกไม่ได้ไปด้วย ก็เลยกลายเป็นว่าชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่มีชื่อเฮียกวงอยู่เลย พอได้ที่ดินมาไอ้สองผัวเมียนั่นก็ดีใจใหญ่ คงเห็นว่าเฮียกวงไม่มีชื่อในที่ดิน และ การซื้อที่ดินเฮียกวงก็ไม่ได้ออกเงินแม้แต่บาทเดียว จึงไม่ยอมให้เฮียกวงทำโครงการ แต่จะเอาไปทำเอง ตอนแรกเฮียกวงก็ยังงงๆว่าเออนี่กูโดนโกงใช่มั๊ยนี่ แล้วก็นำคดีมาปรึกษาผู้เขียน และ ให้ฟ้องคดีให้ ท่านคิดว่าเฮียกวงมีสิทธิขอแบ่งที่ดินจากสองผัวเมียนั่นหรือเปล่า และเรื่องนี้มีหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างไร เรามาดูไปพร้อมๆกันเลย

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1012 “อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่กระทำนั้น” เมื่อเฮียกวงกับสองผัวเมียนั่นตกลงกันว่าจะซื้อที่ดินเนื้อที่ 19 ไร่มาเพื่อสร้างหอพัก แล้วเอากำไรมาแบ่งกัน ก็แสดงว่าเป็นการตกลงเข้ากันอันมีลักษณะเป็นสัญญาห้างหุ้นส่วน ภาษากฎหมายเรียกว่า “หุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน” แม้ไม่ได้จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดแต่กฎหมายก็รองรับกิจกรรมที่ทำกันนั้นว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน

          หลักเกณฑ์นี้ไม่ใช่แค่เฉพาะตัวอย่างที่ผู้เขียนยกตัวอย่างเท่านั้นที่เข้าข่ายเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน เรื่องอื่นๆเช่น หุ้นกันทำร้านอาหาร หุ้นกันทำฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ ฟาร์มวัว หากมีลักษณะเป็นการลงหุ้นกัน ไม่ว่าจะตกลงกันว่าอีกคนลงแรง อีกคนลงเงิน ถ้าหากมีข้อตกลงกันว่าจะนำกำไรที่ได้มาแบ่งปันกันก็จะเป็นสัญญาห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนทั้งสิ้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1026 “ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาลงหุ้นด้วยในห้างหุ้นส่วน สิ่งที่นำมาลงหุ้นด้วยนั้น จะเป็นเงินหรือทรัพย์สินสิ่งหนึ่งสิ่งอื่นหรือลงแรงงานก็ได้”)

          ซึ่งก็หมายความว่าหากจะหยุดทำกิจกรรมนั้น ก็ต้องมีการเลิกสัญญากันก่อน ภาษากฎหมายเรียกว่า “เลิกห้าง” โดยการเลิกห้างแล้วต้องนำทรัพย์สินทั้งหมดมาขายและแบ่งปันกันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนหากมีกำไรเหลือก็แบ่งกันตามสัดส่วนของหุ้นที่ลงไป

          สองผัวเมียนั่นตกลงที่จะลงเงินเข้ามาเพื่อทำโครงการนี้ และ ตกลงให้เฮียกวงเป็นคนทำโครงการ แสดงว่าหุ้นส่วนสองผัวเมียลงหุ้นเป็นเงิน ส่วนเฮียกวงลงหุ้นเป็นแรงงาน

          ต่อมาสองผัวเมียนั่นพอได้ที่ดินไปไม่ยอมนำที่ดินมาทำโครงการร่วมกัน เฮียกวงในฐานะหุ้นส่วนก็มีจดหมายไปถึงสองผัวเมียนั่นเพื่อให้มาประชุมกันเพื่อดำเนินโครงการต่อ แน่นอนว่าสองผัวเมียนั่นคงจะมั่นใจว่าได้ที่ดินไปแล้วเรื่องอะไรที่จะต้องมาทำร่วมกับเฮียกวง เขาก็ไม่มาแน่นอน เราก็เอาเหตุนี้ล่ะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนและชำระบัญชีกัน

          ภาษากฎหมายใช้คำว่า “เลิกห้างหุ้นส่วนและชำระบัญชีกัน”

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1057 “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดร้องขอเมื่อมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังจะกล่าวต่อไปนี้ศาลอาจสั่งให้ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันเสียก็ได้

  1. เมื่อมีเหตุอื่นใดๆทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้”

          การที่หุ้นส่วนทะเลาะกันจนไม่สามารถที่ทำโครงการนี้ต่อไปได้ ก็ถือเป็นเหตุที่ศาลจะสั่งว่าห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ ก็เป็นเหตุให้ศาลสั่งให้ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกัน และ เมื่อเลิกห้างแล้วก็จะต้องมาทำการชำระบัญชีกัน

          การชำระบัญชีกันก็เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1062 “การชำระบัญชีให้ทำโดยลำดับดังนี้ คือ

  1. ให้ชำระหนี้ทั้งหลายซึ่งค้างชำระแก่บุคคลภายนอก
  2. ให้ชดใช้เงินทดรองและค่าใช้จ่ายซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ออกของตนไปเพื่อจัดการค้าของห้าง
  3. ให้คืนทุนทรัพย์ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนได้ลงเป็นหุ้น

          ถ้ายังมีทรัพย์เหลืออยู่อีกเท่าไร ก็ให้เฉลี่ยแจกเป็นกำไรในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วน”

          กรณีของเฮียกวงการชำระบัญชีคือนำที่ดินนั้นออกขาย เอาเงินมาแล้วก็จัดการชำระหนี้ไปตามมาตรา 1062 และ กรณีของเฮียกวงถ้ามีมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้น คือกำไรของห้างหุ้นส่วนที่จะต้องเอากำไรนั้นมาแบ่งปันกันเช่นเดียวกัน

          สรุป คดีนี้เฮียกวงชนะคดีทั้งสามศาล (ศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และ ฎีกา) ศาลพิพากษาให้ห้างหุ้นส่วนระหว่างเฮียกวงกับสองผัวเมียนั่นเลิกกันและให้ชำระบัญชีกัน พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ เฮียกวงได้แบ่งที่ดินกับสองผัวเมียคู่นั้นนั่นเอง

โดย ทนายนำชัย พรมทา  086-3314759

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

แชร์หน้านี้ !!