หนี้บัตรกดเงินสด มีอายุความเพียง 5 ปี
Published by law_admin on
หนี้บัตรกดเงินสด มีอายุความเพียง 5 ปี
ยุคนี้สมัยนี้ผู้เขียนว่าใครที่ไม่รู้จักบัตรกดเงินสดก็ถือว่าเชยกันเลยทีเดียวนะ แต่คนที่โชคดีที่สุดไม่ใช่คนที่มีบัตรกดเงินสด แต่เป็นคนที่มีบัตรกดเงินสดแล้วชำระหนี้ได้ตามกำหนดต่างหาก หรือ ถ้าคนที่โชคดีกว่านั้นก็คือ การไม่มีหนี้คือลาภอันประเสริฐ
แต่สำหรับคนที่เป็นหนี้แล้ว ชำระหนี้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะตกงาน หรือ รายได้ไม่พอกับรายจ่ายทำให้ต้องไปเป็นหนี้บัตรกดเงินสดจากบริษัทหรือธนาคารต่างๆก็ต้องสู้และผ่อนชำระหนี้ต่อไป ไม่รู้เมื่อไหร่จะเป็นไทยแก่ตัวเองเสียที
เป็นหนี้ก็ต้องใช้ เป็นคำสอนของผู้หลักผู้ใหญ่ที่ปลูกฝังเรามาตลอด แล้วถ้าเป็นหนี้แล้วใช้หนี้ไม่ได้ล่ะ จะทำอย่างไร แล้วมีวิธีไหนที่จะไม่ต้องใช้หนี้บ้าง มีกฎหมายเปิดช่องไว้ให้คนเป็นนี้ที่จะไม่ต้องใช้หนี้หรือเปล่า คำตอบคือ “มี” ครับ คือ หนี้ขาดอายุความนั่นเอง ถ้าหนี้ขาดอายุความ ลูกหนี้สามารถยกเป็นข้อต่อสู้เพื่อไม่ต้องชำระหนี้ได้
อายุความในหนี้แต่ละประเภทมีระยะเวลาไม่เท่ากัน ซึ่งสำหรับวันนี้ จะยกตัวอย่างเฉพาะหนี้บัตรกดเงินสด และ หนี้อื่นๆในลักษณะเดียวกันกับบัตรกดเงินสด ว่ามีอายุความเพียง 5 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้อาจใช้สิทธิเรียกร้องให้เราชำระหนี้
โดยทั่วไปแล้วหนี้บัตรกดเงินสดที่เราไปขอสินเชื่อจากบริษัทปล่อยสินเชื่อต่างๆหรือจากธนาคารต่างๆจะมีข้อกำหนดให้เราต้องผ่อนชำระเป็นงวดๆ และ ชำระทุกเดือน ซึ่งในแต่ละงวดนั้นจะมีการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี
- ………………..
- เงินที่ต้องชำระเผื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ
- ………………..
- ……………….
- ……………….”
เมื่อหนี้บัตรกดเงินสด มีข้อกำหนดให้ผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน ส่วนมากจะมีข้อกำหนดให้ชำระเป็นรายเดือนทุกๆเดือน และ การผ่อนแต่ละงวดก็จะมีเงินต้นรวมอยู่ด้วย จึงมีลักษณะเป็นการผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ จึงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2)
ไม่ใช่เฉพาะบัตรกดเงินสด ที่มีอายุความ 5 ปี หนี้เงินกู้ต่างๆหากมีข้อตกลงผ่อนชำระเงินต้นเป็นงวดๆ ก็มีอายุความ 5 ปี เช่นเดียวกัน ผลของหนี้ที่ขาดอายุความ ก็คือลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ชำระหนี้ได้ หากเจ้าหนี้นำคดีไปฟ้องศาล ลูกหนี้ในฐานะจำเลยก็มีสิทธิยื่นคำให้การสู้คดีว่าหนี้ขาดอายุความ เพื่อจะไม่ต้องชำระหนี้ได้
อายุความ 5 ปีที่ว่านี้ คือ 5 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้อาจใช้สิทธิเรียกร้องให้ท่านชำระหนี้ได้ เช่น หากมีข้อตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือนทุกๆเดือนและตกลงชำระหนี้ทุกวันสิ้นเดือนของทุกเดือน และ สมมุติว่าท่านชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ครั้งสุดท้ายในงวดวันสิ้นเดือนมกราคม 2564 แสดงว่าท่านต้องชำระหนี้ครั้งต่อไปคือวันสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หากปรากฏว่างวดเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ท่านผิดนัดไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกให้ท่านชำระหนี้ได้นับแต่งวดเดือนกุมภาพันธ์ 2564 คือ นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป ดังนั้นอายุความ 5 ปี จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 นับไปอีก 5 ปี อย่างนี้เป็นต้น
ทั้งนี้อ้างอิงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12442/2553 แม้มีข้อตกลงกำหนดเงื่อนไขในการชำระเงินกู้คืนทุกเดือนตามคำสั่งหรือกำหนดชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน เดือนละ 148,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539 และงวดต่อๆ ไปทุกวันที่ 23 ของเดือน จนกว่าเงินต้นและดอกเบี้ยจะได้มีการชำระครบถ้วนแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เมื่อผู้ให้กู้เดิมและจำเลยที่ 1 เลือกผูกพันตามข้อตกลงในการชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยคืนโดยวิธีชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกเดือนรวมระยะเวลา 5 ปี นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กู้เดิมหรือโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องกับจำเลยที่ 1 จึงต้องบังคับตามข้อตกลงที่คู่สัญญาเลือกปฏิบัติผูกนิติสัมพันธ์กันนั้น เมื่อข้อตกลงชำระหนี้เงินกู้คืนที่ตกลงผูกนิติสัมพันธ์กันนั้นเป็นการชำระหนี้เพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 134/2551 วินิจฉัยในทำนองเดียวกัน
ทั้งหลักกฎหมาย และ หลักแห่งคุณธรรม ไม่ได้สนับสนุนให้คนที่เป็นหนี้หนีหนี้หรือเบี้ยวหนี้นะครับ หลักกฎหมายและหลักคุณธรรมทั่วไป คือ “เป็นหนี้ก็ต้องใช้” แต่หลักกฎหมายเรื่องอายุความ กฎหมายมีเจตนาให้เจ้าหนี้ใช้สิทธิภายในระยะเวลาใดเวลาหนึ่งซึ่งไม่ควรนานเกินไป ไม่ใช่ปล่อยปะละเลยจนเวลาล่วงเลยกันไปนานหลายสิบปีแล้วค่อยมาฟ้องลูกหนี้ แบบนี้ก็ไม่แฟร์กับลูกหนี้เหมือนกัน
.
บทความต่อไปเราจะมาพูดถึง หนี้บัตรกดเงินสด มีอายุความเพียง 2 ปี กันบ้าง
.
โดย ทนายนำชัย พรมทา 086-3314759
ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ
ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail : numchailaw.office@gmail.com
Line Official : @numchailawyers
สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ
แชร์หน้านี้ !!